กิจกรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี

กิจกรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มี.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,547 view

โครงการอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดอุบลราชธานี

           กรมอาเซียนได้จัดโครงการอาเซียนสัญจร ครั้งที่ 4/57 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 16 – 18 กุมภาพันธ์ 2557 โดยมีอธิบดีกรมอาเซียนเป็นหัวหน้าคณะผู้แทน กิจกรรมครั้งนี้มีผลดำเนินกิจกรรม ดังนี้

            1. การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้แก่เยาวชน
                คณะกรมอาเซียน ได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนที่โรงเรียนอุบลวิทยาคม เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 ระหว่างเวลา 09.00 – 12.00 น. มีครูและนักเรียนระดับประถมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนประมาณ 300 คน โดยได้จัดกิจกรรมถาม-ตอบปัญหาอาเซียน เพื่อชิงรางวัลเป็นของที่ระลึกจากกรมอาเซียน นอกจากนี้ อธิบดีกรมอาเซียนได้มอบเข็มยุวทูตความดีให้แก่นักเรียนโรงเรียนดังกล่าวด้วย การจัดกิจกรรมฯ เน้นการเรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลินสอดแทรกสาระความรู้เกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งครูและนักเรียนโรงเรียนอุบลวิทยาคมมีความสนใจอย่างมาก รวมทั้งสามารถตอบคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมถึงภาษา ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างดี แสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความกระตือรือล้นเกี่ยวกับเรื่องอาเซียนเป็นอย่างมาก

            2. การพบสื่อมวลชนท้องถิ่น 
                อธิบดีกรมอาเซียนได้นำคณะฯ พบกับสื่อมวลชนท้องถิ่นในวันที่ 17 มกราคม 2557 ระหว่างเวลา 14.00-16.00 น. ณ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีสื่อมวลชนท้องถิ่นจำนวน 25 คนจากหนังสือพิมพ์และวิทยุท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดน มีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 2 จังหวัด คือ ประเทศลาวและกัมพูชา และสอบถามถึงแนวทางการปรับตัวเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในปี 2558

            3. การจัดเสวนาในหัวข้อ 'ASEAN Connectivity: การเชื่อมโยงจังหวัดชายแดนสู่ประชาคมอาเซียน 2558 ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
                เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 คณะฯ ได้จัดการเสวนา ในหัวข้อ ASEAN Connectivity: การเชื่อมโยงจังหวัดชายแดนสู่ประชาคมอาเซียน 2558 ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีนายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อธิบดีกรมอาเซียน นายชวลิต องควานิช ประธานกรรมการที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี และดร.สิรินทร์ทิพย์ บุญมี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้ร่วมการเสวนา โดยสาระสำคัญจากเวทีเสวนามีดังต่อไปนี้
                         - ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีกล่าวย้ำว่า จังหวัดอุบลราชธานีให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงมาก เนื่องจากมีพื้นที่ติดชายแดน 2 ประเทศ มีอำเภอที่ติดชายแดนจำนวน 10 อำเภอ จังหวัดฯ จึงมีนโยบายสนับสนุนการเชื่อมโยงทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และการเชื่อมโยงระดับประชาชน อย่างไรก็ดี เห็นว่ายังคงมีความท้าทายต่างๆ อาทิ การขาดการบูรณาการงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ประชาชนและเจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับประเทศพื้นบ้านที่ติดกับจังหวัดอุบลราชธานีอย่างลึกซึ้ง เจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศอาจเข้ามาช่วยสนับสนุนได้ รวมถึงความท้าทายในการจัดการปัญหาข้ามพรมแดนต่างๆ เช่น การหลบหนีเข้าเมือง ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ซึ่งจังหวัดฯ ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการจัดการปัญหาดังกล่าว รวมทั้งมีการประสานงานที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน 
                         - อธิบดีกรมอาเซียนกล่าวถึงการเชื่อมโยง โดยอาเซียนมีการจัดทำ Master Plan on ASEAN Connectivity ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนต้องมีแผนงานรองรับ Master Plan ดังกล่าว รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดขึ้น โดยมีความท้าทายในการดำเนินงานในระดับประเทศต่างๆ อาทิ การประสานงานและการบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขาดความต่อเนื่องด้านนโยบายในระดับชาติ ไทยและประเทศในภูมิภาคยังมีการเก็บข้อมูลและสถิติที่ไม่ดี รวมถึงการปรับทัศนคติและมุมมองที่ประชาชนมีต่อประเทศเพื่อนบ้าน 
                         - ประธานกรรมการที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานีให้ข้อเสนอแนะว่า ควรมีการจัดตั้งสถานกงสุลที่จำปาศักดิ์ ควรผลักดันการจัดทำวีซ่าร่วมอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และเสนอให้ผลักดันให้กัมพูชาและเวียดนามอนุญาตให้รถยนต์จากไทยสามารถเดินทางเข้าประเทศทั้งสองได้ ซึ่งอธิบดีกรมอาเซียนกล่าวว่า กระทรวงฯ มีโครงการที่จะแต่งตั้งสถานกงสุลที่จำปาศักดิ์อยู่แล้ว ส่วนเรื่องวีซ่าร่วมอาเซียนนั้น เป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังหารือกันอยู่ และความละเอียดอ่อน เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงและการจัดการปัญหาข้ามพรมแดนด้วย
                         - รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยฯ ในการร่วมเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมหาวิทยาลัยฯ มุ่งมั่นที่จะเป็น “ภูมิปัญญาแห่งลุ่มน้ำโขง” โดยมีการเตรียมหลักสูตรภาษาเพื่อนบ้าน การจัดโครงการแลกเปลี่ยนการเตรียมความพร้อมในการรับนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงผู้ที่ได้รับทุนจากสำนักงานความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) และการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรในลาวและกัมพูชา
               นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้ให้ความสนใจตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง อาทิ เห็นว่าควรมีการชำระประวัติศาสตร์ร่วมระหว่างประเทศอาเซียน เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีในหมู่ประชาชนของประเทศสมาชิกอาเซียน และควรสนับสนุนให้ข้าราชการท้องถิ่นพูดภาษาอังกฤษได้

           4. การเข้าพบส่วนราชการท้องถิ่น
               เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ระหว่างเวลา 14.30 – 15.30 น. นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้การต้อนรับอธิบดีกรมอาเซียนและคณะฯ ณ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยอธิบดีกรมอาเซียนกล่าวถึงจุดมุ่งหมายของกิจกรรมอาเซียนสัญจรว่าเป็นการเข้าถึงภาคประชาชนในต่างจังหวัดเพื่อสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับอาเซียน พร้อมรับข้อคิดเห็นที่ได้จากการเดินทางมาจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนี้ไปพิจารณาต่อไปนอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เน้นย้ำถึงการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของจังหวัดอุบลราชธานีที่เป็นจุดเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญแห่งหนึ่ง และเห็นว่าประชาชนและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว และเวียดนามอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ได้อย่างเต็มที่

----------------------------------------------------------

กองยุทธศาสตร์และความร่วมมืออาเซียน กรมอาเซียน

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ