วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 พ.ย. 2565
กรมอาเซียนได้จัดโครงการอาเซียนสัญจรครั้งที่ ๓/๒๕๕๗ ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๘ มกราคม ๒๕๕๗ ณ จังหวัดน่าน ซึ่งในครั้งนี้อธิบดีกรมอาเซียนได้มอบหมายให้ นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียนเป็นหัวหน้าคณะ โดยสรุปสาระของกิจกรรมได้ดังนี้
๑. การพบหารือกับจังหวัด
๑.๑ เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๗ ระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. นายอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการ (ผวจ.) จังหวัดน่านและผู้แทนหน่วยงานท้องถิ่นได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำ ซึ่งกรมอาเซียนเป็นเจ้าภาพ โดยรองอธิบดีกรมอาเซียนได้เรียน ผวจ. ถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมอาเซียนสัญจรซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนให้ถูกต้องและลึกซึ้งยิ่งขึ้นให้แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน วิชาการ นิสิตและประชาชนทั่วไปที่สนใจ ทั้งนี้ จากการจัดกิจกรรมในต่างจังหวัดพบว่า ทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวและสนใจเรื่องอาเซียนมากยิ่งขึ้นขึ้น ซึ่ง ผวจ. ยินดีที่กรมอาเซียนให้ความสำคัญและเลือกเดินทางมาเยือน จ.น่าน เพราะการจัดกิจกรรมเช่นนี้จะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชนในจังหวัดได้ดี นอกจากนี้ ในการหารือ ผวจ. ได้หยิบยกเรื่องความร่วมมือกับ สปป.ลาว และการที่หน่วยงานของไทยต้องเรียนรู้เรื่องงานด้านต่างประเทศและพิธีการทูตมากยิ่งขึ้น โดยจังหวัดฯ ได้ริเริ่มที่จะจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการต่างประเทศประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประสงค์จะขอคำแนะนำจากกรมอาเซียนในโอกาสต่อไป เพื่อจะได้รับมือกับความท้าทายของจากการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่ง ผวจ. เล็งเห็นโอกาสที่จะขยายความร่วมมือและเชื่อมโยงกับ สปป.ลาว เวียดนาม และจีนต่อไป
๒. การจัดการเสวนาและการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้
๒.๑ การเสวนาเรื่อง ASEAN Connectivity: การเชื่อมโยงจังหวัดชายแดนสู่ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘ ณ โรงแรมน่านตรึงใจ โดย ผวจ.น่านได้กล่าวเปิดงานฯ ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมอาเซียน รองประธานหอการค้าจังหวัดน่าน นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวน่าน และพาณิชย์จังหวัดน่านได้ร่วมเป็นวิทยากร สรุปผลการเสวนาได้ดังนี้
ผวจ. น่าน กล่าวถึงความสำคัญของนายอำเภอที่มาเข้าร่วมเพราะจะมีบทบาทสำคัญและควรรับทราบนโยบายในการเตรียมความพร้อมของจังหวัดน่านในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนไปปฏิบัติ โดยเน้นการเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดย จ.น่านมีแนวชายแดนติดต่อกับ สปป. ลาว รวม ๒๗๗ กม. โดยประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวก พร้อมมีวัฒนธรรม การประกอบอาชีพ และแหล่งท่องเที่ยวคล้ายคลึงกัน จ.น่านยังสามารถเชื่อมโยงต่อไปหลวงพระบาง เวียดนาม และจีนด้วย ทั้งนี้ จ. น่านได้ตั้งคณะเพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้น เพื่อส่งเสริมเขตเศรษฐกิจ ๔ เหลี่ยม น่าน-จีน-เวียดนาม-ลาว เพื่อมุ่งเน้นให้มีการแลกเปลี่ยนแบบ L-to-L (Local to Local) และการเชื่อมโยงเมืองเศรษฐกิจระหว่างกัน
ในการเตรียมความพร้อมของจ.น่าน ผวจ. ให้ยึดแนวทางในการพัฒนา จ.น่านว่า “สร้างเมืองน่าน น่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” โดยเน้นเรื่องสาธารณสุข ความสะอาด การรักษาสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยและเห็นว่าต้องดำเนินการ ดังนี้ (๑) พัฒนาคน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ เน้นการส่งเสริมการเรียนภาษาทั้ง อังกฤษ จีน และภาษาประเทศเพื่อนบ้าน (๒) พัฒนาการเกษตรเชิงอนุรักษ์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (๓) พัฒนาอาชีพเพื่อรองรับการเติบโตของน่าน อาทิ พัฒนาด้านศิลปะ หัตถกรรม การโรงแรม การขายสินค้า นอกจากนี้ ยังต้องปรับปรุงระบบการจราจรในจังหวัดการเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดและชายแดน
สำหรับภาพรวมการเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผวจ. มีข้อคิดเห็น ๓ ประการ คือ (๑) ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรี และมีผลประโยชน์ร่วมกัน (๒) การยอมรับในความแตกต่างและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยต้องส่งเสริมจุดเด่นและปรับปรุงจุดด้อย (๓) ควรเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันให้เป็นระดับโลก และเพื่อเพิ่มอำนาจการการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ
รองอธิบดีกรมอาเซียน ได้กล่าวถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมอาเซียนสัญจร ซึ่งในปีนี้เน้นเรื่องบทบาทของจังหวัดชายแดนและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกรอบของ ASEAN Connectivity การที่ไทยมีที่ตั้งเชิงจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมเป็นประโยชน์ต่อไทย โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาเมืองตามเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน ทั้งนี้ จ. น่านสามารถเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้ง การพัฒนาความเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นที่เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยง อย่างไรก็ดี จังหวัดต้องตระหนักและวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ นอกจากนี้ ประเด็นด้านสังคมวัฒนธรรมมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับและการมีทัศนคติในเชิงบวกต่อประเทศเพื่อนบ้าน การส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในทุกมิติและทุกระดับกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเน้นการให้เกียรติ การเคารพและการลดอคติซึ่งกันและกัน
รองประธานหอการค้าจังหวัดน่าน กล่าวถึงโอกาสและผลกระทบจากการเปิดประชาคมอาเซียน ๔ ประการ ดังนี้ (๑) ด้านแรงงาน ต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย โดยยกตัวอย่างกรณีที่ปัจจุบันแรงงานเมียนมาร์ใน จ. เชียงใหม่เริ่มมีตำแหน่งที่สูงขึ้น (๒) ด้านภาษา หอการค้าจะเปิดอบรมด้านภาษาโดยประสานงาน กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (๓) ศักยภาพการตลาดที่เติบโต ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวในด้านระบบการบริหารบัญชี ซึ่งหอการค้าจังหวัดฯ จะมีบทบาทสำคัญในการอบรมและสัมมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านนี้ (๓) ภาคการเกษตร ต้องแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากการปลูกข้าวโพด และการที่ข้าวโพดล้นตลาด (๔) ด้านอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างน่าจะเติบโตขึ้น อาคารพาณิชย์ พื้นที่ค้าขายในห้างขนาดเล็ก น่าจะเป็นธุรกิจที่ดี และจ.น่านจะต้องปรับตัวกับการเข้ามาของกลุ่มทุนขนาดใหญ่
นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวน่าน เห็นว่า อุตสาหากรรมการท่องเที่ยวในน่านจะได้ประโยชน์จากการสร้างถนน อาทิ การเชื่อมโยงน่านกับหลวงพระบาง การเชื่องโยงระหว่างน่าน-ลาว-เวียดนาม-จีน ทั้งนี้ นายกสมาคมฯ เห็นควรส่งเสริมธุรกิจการเกษตรด้วยการปลูกพืช ปลูกผัก แบบพอเพียง ซึ่งเป็นจุดแข็งของน่าน และส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรม รวมทั้งการให้ชาวบ้านได้เปิดโลกทัศน์ อาทิ การไปดูงานที่ลาว และการค้าขายในลาว นอกจากนี้ นายกสมาคมฯ ยังส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระดับท้องถิ่น และการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้คนน่านได้ประโยชน์มากที่สุดจากการท่องเที่ยว
พาณิชย์จังหวัดน่าน กล่าวถึงการเปิดเส้นทางเข้าสู่จังหวัดน่าน อาทิ ด่านห้วยโก๋นตั้งอยู่ที่ชายแดนไทย-ลาว ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวรของไทย และโครงการจะขยายเส้นทางระหว่างน่านกับแพร่เป็น ๔ ช่องทาง ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่รถขนาดใหญ่และรถทัวร์ในเส้นทางไปด่านห้วยโก๋น การพัฒนาถนนสู่ลาวกับจีน และการพัฒนาสะพานในการเชื่อมโยง นอกจากนี้ ควรเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วย อาทิ การทำการค้า online
ในการเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนในจังหวัดฯ เป็นอย่างยิ่ง โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาประมาณ ๑๕๐ คน ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการและองค์กรท้องถิ่น ภาคเอกชน นักศึกษา และสื่อมวลชน
๒.๒ การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ณ โรงเรียนบ้านดอน (ศรีเสริมกสิกร) ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการยุวทูตความดี โดยผู้อำนวยการโรงเรียนฯ รายงานการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนฯ ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อาทิ การจัดทำหลักสูตรอาเซียน การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาจีน และอังกฤษ และการจัดกิจกรรม ASEAN Day ซึ่งรองอธิบดีฯ กล่าวให้โอวาทแก่นักเรียน โดยเน้นเรื่องพัฒนาการในอาเซียน การรู้เขารู้เรา การส่งเสริมการเรียนรู้คิดวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง และการปลูกฝังทัศนคติในเรื่องการมีจิตอาสาต่อสังคมตามแนวทางของโครงการยุวทูตความดี
ในการนี้ คณะกรมอาเซียนได้มอบสื่อเผยแพร่เรื่องประชาคมอาเซียน และจัดกิจกรรมถาม-ตอบปัญหาอาเซียนกับนักเรียนระดับประถมศึกษา ๔ - ๖ ประมาณ ๓๐๐ คน โดยมีรางวัลเป็นของที่ระลึกจากกรมอาเซียน ซึ่งนักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างแข็งขันและสนุกสนาน
-------------------------------------------------------------
กองสังคมและวัฒนธรรม กรมอาเซียน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)