กิจกรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดราชบุรี

กิจกรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดราชบุรี

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 เม.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 4,590 view

              กรมอาเซียนได้จัดกิจกรรมอาเซียนสัญจร ครั้งที่ ๕/ ๒๕๕๗ ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ จังหวัดราชบุรี โดยอธิบดีกรมอาเซียนมอบหมายให้นางสาวภาสพร สังฆสุบรรร์ รองอธิบดีกรมอาเซียนเป็นหัวหน้าคณะ ขอรายงานสรุปผลการจัดกิจกรรมอาเซียนสัญจรในครั้งนี้ ดังนี้

                  ๑. กิจกรรมอาเซียนสัญจรในครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ได้แก่

                       ๑.๑ การเสวนาในหัวข้อ "การเตรียมความพร้อมของจังหวัดราชบุรี
 สู่ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘
" ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ โดยมีวิทยากร ได้แก่ ๑) นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ๒) นายพจน์ หาญพล ผู้อำนวยการกองสังคมและวัฒนธรรม กรมอาเซียน ๓) นายชัยวัฒน์ รุจิระภูมิ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดราชบุรี และ ๔) นายชวลิต ชีวพฤกษ์ เจ้าของธุรกิจตลาดน้ำสวนผึ้ง Veneto โดยรองอธิบดีกรมอาเซียนเป็นผู้ดำเนินรายการ และมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาประมาณ ๑๕๐ คน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน และสื่อมวลชนในจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีสาระสำคัญจากเวทีเสวนา มีดังต่อไปนี้

                       รองอธิบดีกรมอาเซียน กล่าวแนะนำกิจกรรมอาเซียนสัญจร วัตถุประสงค์ของการจัดการเสวนา พร้อมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน อาเซียนได้มองไปไกลกว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมีการริเริ่มการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี พ.ศ. ๒๕๕๘ แล้ว

                       ผู้อำนวยการกองสังคมและวัฒนธรรม กรมอาเซียน กล่าวถึงพัฒนาการของอาเซียนตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งประสบความสำเร็จในการเป็นกลไกหารือเพื่อรักษาสันติภาพในภูมิภาค จนกระทั่งมีกฎบัตรอาเซียน ซึ่งให้ความสำคัญกับการทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
รวมทั้งได้กล่าวถึง ๓ เสาหลักของประชาคมอาเซียน โดยยกตัวอย่างความร่วมมือที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า ๖๐๐ ล้านคน และการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกกรณีเกิดภัยพิบัติ โดยล่าสุดคือกรณีไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

                       ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

                        - จังหวัดราชบุรีมีการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ซึ่งประกอบด้วย ๒๖ ตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค สาธารณสุข การประกันสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยเน้นการปรับปรุงตัวชี้วัดที่จังหวัดราชบุรียังต่ำกว่ามาตรฐานในระดับประเทศ เช่น การเข้าถึงน้ำประปาหรือสัญญาณโทรศัพท์ในบางพื้นที่ สัดส่วนประชากรที่เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น  นอกจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรียังเน้นการสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่เพื่อรับทราบและชี้แจงแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยพบว่า Facebook เป็นหนึ่งในช่องทางที่มีประสิทธิภาพ

                        - จังหวัดราชบุรีเน้นพัฒนาสิ่งที่เป็นจุดแข็งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยกำหนดวิสัยทัศน์ให้จังหวัดราชบุรีเป็น “ผู้นำการเกษตรปลอดภัย” เนื่องจากจังหวัดราชบุรีเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ และผู้ประกอบการจำนวนมากเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ที่มีการดำเนินงานเป็นไปตาม Good Agricultural Practices (GAP)  ทั้งนี้ มีนโยบายส่งเสริมกิจการตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นภายในจังหวัด (ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรี
เป็นแหล่งผลิตเนื้อหมูของประเทศ แต่ยังต้องส่งไปแปรรูปที่จังหวัดนครปฐม) รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Green City ของกระทรวงเกษตรฯ

                        - จังหวัดราชบุรีเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภาคตะวันตก และมีตลาดศรีเมือง ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ที่เป็นจุดกระจายสินค้าลงสู่ ๑๔ จังหวัดภาคใต้  ดังนั้น จังหวัดราชบุรี จึงมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาคด้วย

                        - จังหวัดราชบุรีได้จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนงานรองรับในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และอยู่ระหว่างรวบรวมโครงการ/ กิจกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในจังหวัด เพื่อนำมาพิจารณาในภาพรวมว่า สอดคล้องกับแผนงานหรือไม่ และควรปรับปรุงหรือเพิ่มเติมในด้านใด

                        - จังหวัดราชบุรีมีสินค้า OTOP ที่มีศักยภาพในการส่งออก โดยกำลังส่งเสริมให้มีการติดฉลากที่เป็นภาษาอังกฤษ และประสงค์จะร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศในการจัดกิจกรรมเพื่อขยายตลาดในต่างประเทศ ซึ่งรองอธิบดีกรมอาเซียน กล่าวสนับสนุนพร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า สถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่ มีการจัดเทศกาลไทยในต่างประเทศเป็นประจำอยู่แล้ว จึงน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการขยายตลาดให้แก่สินค้า OTOP จากจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สิงคโปร์ ซึ่งที่ผ่านมา มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยผ่านกระบวนการ Contract Farming

                       - ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีสนับสนุนในการเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้าบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์ที่บ้านตะโกบน อำเภอสวนผึ้ง ซึ่งรองอธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า การเปิดจุดผ่านแดนเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน และเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาร่วมกัน

                      เลขาธิการหอการค้าจังหวัดราชบุรี

                      - ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดราชบุรีว่า การผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยมีมูลค่า ๒๐,๘๐๐ ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ ๒๐ ของมูลค่าการผลิตของทั้งจังหวัด  ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ภาคการเกษตรและภาคบริการ (การท่องเที่ยว)
มีการขยายตัว ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม การบริโภค และการลงทุนชะลอตัว

                      - หอการค้าจังหวัดราชบุรีมีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศอาเซียน โดยล่าสุด ได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดราชบุรีนำผู้ประกอบการจากจังหวัดราชบุรีไปร่วมงานแสดงสินค้าที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย เช่น บริษัททิพย์โอสถ และบริษัทกระจกพีเอ็มเคเซ็นทรัล ได้คำสั่งซื้อหรือได้คู่เจรจาทางธุรกิจกลับมา

                     - หอการค้าจังหวัดราชบุรีสนับสนุนและกำลังผลักดันการเปิดจุดผ่อนปรนทางการค้าที่บ้านตะโกบน เพื่อเชื่อมต่อไปยังเมืองทวายและมะริด ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมาร์โดยปัจจุบัน บริเวณชายแดนในเขตบ้านตะโกบนยังเป็นเพียงตลาดนัดขนาดเล็กระหว่างชาวบ้านของทั้งสองฝั่งที่เดินข้ามไปมา

                    เจ้าของธุรกิจตลาดน้ำสวนผึ้ง Veneto

                     - กล่าวถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรีซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มผู้ประกอบการในอำเภอสวนผึ้งมีการรวมตัวที่เข้มแข็ง มีการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมมือกันจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในอำเภอสวนผึ้ง  ปัจจุบันมีการขยายเครือข่ายและจัดตั้งเป็นชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดราชบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัดราชบุรี ไม่จำกัดเฉพาะอำเภอสวนผึ้ง โดยมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานราชการของจังหวัด 

                    - ในบริบทของอาเซียน เมียนมาร์กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในด้านการค้าการลงทุน รวมถึงด้านการท่องเที่ยว  ดังนั้น จังหวัดราชบุรีซึ่งมีชายแดนติดกับเมียนมาร์จึงมีศักยภาพในการเป็นจุดแวะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปเมียนมาร์  ทั้งนี้ สิ่งที่ควรมีการดำเนินการคือการปรับปรุงภูมิทัศน์ในจังหวัดราชบุรีด้วยการปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างความร่มรื่นและทัศนียภาพที่สวยงาม

                    ช่วงถาม-ตอบ

                     - รองอธิบดีกรมอาเซียน ได้สอบถามวิทยากรเกี่ยวกับนโยบาย/ กิจกรรมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริม SMEs ในจังหวัดราชบุรี เนื่องจากเป็นประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญ ซึ่งเลขาธิการหอการค้าจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดราชบุรีมีกิจกรรมสร้างเครือข่ายทายาทธุรกิจ โดยเน้นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ยกตัวอย่างการส่งเสริมสินค้า OTOP ว่า ต้องมีการส่งเสริมที่ครบวงจร ไม่เฉพาะแค่การผลิตขั้นพื้นฐาน แต่รวมถึงการแปรรูป บรรจุภัณฑ์ และการสร้างแบรนด์ โดยจังหวัดราชบุรีมีการจัดให้ผู้ผลิตสินค้า OTOP มาประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเห็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละคน รวมทั้งให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยวว่า ควรมีข้อมูลร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก
ที่อยู่บนเส้นทางเหล่านั้นด้วย

                   - ผู้อำนวยการกองสังคมและวัฒนธรรม ตอบคำถามเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านการศึกษาในกรอบอาเซียน โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ASEAN University Network (AUN)ความร่วมมือในการถ่ายโอนหน่วยกิจระหว่างมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียน การแลกเปลี่ยนอาจารย์ และนักศึกษา การปรับเปลี่ยนเวลาปิด/เปิดภาคการศึกษา และการจัดทำ ASEAN Curriculum Sourcebook

                   - บางหน่วยงานในจังหวัดราชบุรีใช้โอกาสนี้ในการกล่าวถึงโครงการ/ กิจกรรมของตนที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรีกล่าวถึงโครงการครัวอาเซียนเพื่อพัฒนาสูตรการผลิตอาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป และผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบฯ (กศน.) กล่าวถึงหลักสูตรฝึกอบรมครูและการพัฒนาคนในชุมชนโดยการจัดให้มีการประกวดโครงการ/ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน

 

                 ๑.๒ การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในระดับเยาวชน  

                 - คณะผู้แทนกรมอาเซียนได้จัดกิจกรรมถาม-ตอบปัญหาเกี่ยวกับอาเซียนเพื่อรับของที่ระลึก ณ โรงแรมโกลเด้นซิตี้ โดยจังหวัดราชบุรีได้อำนวยความสะดวกในการเชิญคณะครูและนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดเขาวังและโรงเรียนอนุบาลราชบุรีเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ ๒๐๐ คน  การจัดกิจกรรมฯ เน้นความสนุกสนานควบคู่กับการสอดแทรกสาระความรู้เกี่ยวกับอาเซียน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถตอบคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับอาเซียนได้อย่างดีเยี่ยม

                - ทั้งสองโรงเรียนจัดให้นักเรียนได้แสดงความสามารถ ได้แก่ การร้องเพลง The ASEAN Way ร่วมกัน และการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับอาเซียนเป็นภาษาอังกฤษโดยตัวแทนนักเรียนโรงเรียนวัดเขาวัง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสนใจในด้านภาษาอังกฤษและอาเซียนของโรงเรียนทั้งสองแห่งเป็นอย่างยิ่ง

--------------------------------------------------------------

สำนักเลขานุการกรม กรมอาเซียน

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ