นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางน้อมนำปรัชญา "ขาดทุน คือกำไร" รับสถานการณ์โควิด-๑๙ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์

นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางน้อมนำปรัชญา "ขาดทุน คือกำไร" รับสถานการณ์โควิด-๑๙ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,240 view

การประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์ ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์ รับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน-นิวซีแลนด์ ที่เน้นย้ำด้านสันติภาพ ความมั่งคั่ง ประชาชน และโลก โดยนายกรัฐมนตรีไทยเสนอแนวทางในการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-๑๙ โดยน้อมนำปรัชญา "ขาดทุน คือกำไร" ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส พร้อมเสนอให้นิวซีแลนด์ ร่วมมือกับอาเซียนด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-นิวซีแลนด์ ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปี ของความสัมพันธ์ พร้อมผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน และนางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

ที่ประชุมได้หารือแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่เจรจาที่เก่าแก่ที่สุดของอาเซียน โดยหารือประเด็นสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ การรับมือและฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ การลงนาม RCEP และการสนับสนุนระบบพหุภาคีเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน และการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการที่จำเป็น รวมทั้งสาขาที่นิวซีแลนด์เชี่ยวชาญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการขยะทะเล และการศึกษา

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลง โดยเน้นความมั่นคงของมนุษย์และสาธารณสุขในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการฟื้นฟูหลังการระบาด โดยการลงนาม RCEP และการเจรจายกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ จะเป็นกลไกฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค อีกทั้งได้นำเสนอปรัชญา “ขาดทุน คือ กำไร” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และเสนอความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังสนับสนุนแนวคิด “ไคติอากิทังก้า” ของนิวซีแลนด์ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อคนรุ่นต่อไป ซึ่งนิวซีแลนด์ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ประกาศสมทบเงินสนับสนุน ๑) กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรคระบาดโควิด-๑๙ ๑ ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ๒) การทำเกษตรให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ ๑๐ ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ ๓) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ๕ ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ และความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาค ๒๔ ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลวิสัยทัศน์ร่วมระดับผู้นำ ซึ่งเน้นความร่วมมือในด้านสันติภาพ ความมั่งคั่ง ประชาชน และโลก และได้รับทราบแผนปฏิบัติการอาเซียน-นิวซีแลนด์ ฉบับใหม่ (ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๕)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ