นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญของบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค และเน้นความร่วมมือในการร่วมพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๘

นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญของบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค และเน้นความร่วมมือในการร่วมพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๘

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 1,190 view
นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญของบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค และเน้นความร่วมมือเพื่อรับมือโควิด-๑๙ โดยเฉพาะการร่วมพัฒนาและผลิตวัคซีน การส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเร่งสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์และทักษะแรงงานในยุค New Normal ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๘
 
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๘.๐๐ น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ ๘ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายโรเบิร์ต ซี โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความสำคัญของบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียน และการสร้างดุลยภาพใหม่ทางยุทธศาสตร์ในอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ และนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเข้มแข็งของภูมิภาค 
 
นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนและสหรัฐฯ กระชับความร่วมมือใน ๓ ประเด็น ได้แก่ (๑) การส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการวิจัยและผลิตยาและวัคซีนต้านโควิด-๑๙ โดยไทยพร้อมเป็นฐานการผลิตเพื่อให้เป็นสินค้าสาธารณะ รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่ม “อาเซียน-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุขเพื่ออนาคต” (๒) การส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการสร้างความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน การเร่งสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises - MSMEs) ตลอดจนการร่วมพัฒนาพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปตามวิถีปกติใหม่ 
 
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ให้มีความก้าวหน้าและรอบด้านมากยิ่งขึ้น และได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นระหว่างประเทศและสถานการณ์ในภูมิภาค ทั้งนี้ ในบริบทของโควิด-๑๙ ที่ประชุมเห็นว่าอาเซียนและสหรัฐฯ จะต้องร่วมมือเพื่อรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านสาธารณสุข การรักษาห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมการค้าและ การลงทุน ตลอดจนการพัฒนาทุนมนุษย์ ในโอกาสนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศการจัดตั้ง U.S.-ASEAN Infection, Prevention, and Control Task Force ภายใต้ข้อริเริ่ม “อาเซียน-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุขเพื่ออนาคต” และสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนอาเซียนผ่านโครงการ Billion Futures Scholars นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ (Joint Statement on Human Capital Development) ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ