กิจกรรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดสงขลา

กิจกรรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดสงขลา

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ส.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 4,266 view

              กรมอาเซียนได้จัดกิจกรรมอาเซียนสัญจรครั้งที่ ๑๐/๒๕๕๗ ณ จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๙  สิงหาคม ๒๕๕๗ ในครั้งนี้คณะผู้แทนกรมอาเซียนนำโดยนายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร อธิบดีกรมอาเซียน ได้นำคณะฯ เข้าพบปะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา การจัดเสวนา เรื่อง "สงขลากับความพร้อมเปิดประตูเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘" ณ โรงแรมลี การ์เด้น พลาซ่า หาดใหญ่ และเดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานและจัดกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้และความรู้เกี่ยวกับอาเซียนร่วมกับคณะครูและนักเรียนที่โรงเรียนบ้านคลองหวะ ซึ่งกสรุปสาระสำคัญของการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ดังนี้

          ๑ การเข้าเยี่ยมคารวะผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

              ๑.๑ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ – ๑๑.๐๐ น. อธิบดีกรมอาเซียน ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อแจ้งวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมอาเซียนสัญจร รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับอาเซียน อาทิ โครงการจัดสร้างห้องสมุดอาเซียนในโรงเรียนในจังหวัดต่าง ๆ รวม ๘ แห่งสำหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ในการนี้   อธิบดีกรมอาเซียนได้ขอให้จังหวัดฯ พิจารณาเสนอชื่อโรงเรียนที่เหมาะสมสำหรับดำเนินงานจัดสร้างห้องสมุดเพื่อให้กรมอาเซียนพิจารณาต่อไป

             ผู้ว่าราชการฯ กล่าวถึงความสำคัญของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะ    การส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านภาษาแก่ประชาชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และเยาวชนของประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ควรต้องศึกษาภาษาเพื่อนบ้านควบคู่ไปด้วย

             นอกจากนี้ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ยังได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เนื่องจากอำเภอหาดใหญ่มีชายแดนติดกับมาเลเซีย โดยเฉพาะการแก้ปัญหารถนำเที่ยวของมาเลเซียที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามายังจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคใต้ของไทยได้ ขณะที่มาเลเซียอนุญาตให้รถนำเที่ยวของไทยไปได้ถึงพื้นที่บริเวณชายแดนเท่านั้น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ อาทิ การทำประกันภัยรถยนต์ในฝั่งมาเลเซีย การติดฟิล์มรถยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ ๒๕ ฯลฯ ทำให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวของไทยเดือดร้อนและเสียเปรียบ ดังนั้น จังหวัดสงขลาจึงได้ออกระเบียบใหม่ โดยนับตั้งแต่  วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗  รถนำเที่ยวของมาเลเซียจะสามารถเข้ามาได้ถึงอำเภอเมืองและอำเภอหาดใหญ่เท่านั้น ไม่สามารถนำรถออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้ นอกจากได้รับการอนุญาตจากกรมการขนส่งไทย นอกจากนี้ ผู้ว่าราชาการฯ ยังได้จัดหาที่ดินสำหรับสถานกงสุลใหญ่จีนประจำสงขลา ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดสงขลากับ สกญ. จีนมีความแน่นแฟ้น ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประชาชนจากทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น และช่วยสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดสงขลาด้วย

            ๒. การเสวนาเรื่อง “สงขลากับความพร้อมเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘

                 เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ระหว่างเวลา ๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. กรมอาเซียนได้จัดการเสวนาเรื่อง “สงขลากับความพร้อมเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘” ณ โรงแรม  ลี การ์เด้น พลาซ่า หาดใหญ่ โดยมีวิทยากรประกอบด้วยอธิบดีกรมอาเซียน หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา และนายกสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา และมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาประมาณ  ๑๐๐ คน ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการและองค์กรท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และสื่อมวลชน สาระสำคัญของการเสวนาสรุปได้ ดังนี้

                 อธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า ประชาคมอาเซียนเป็นกระบวนการที่พัฒนาอย่าง     ค่อยเป็นค่อยไป โดยได้มีการดำเนินการในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การลดภาษีเหลือร้อยละ ๐ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ การเปิดเสรีในด้านการลงทุน โดยให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ร้อยละ ๗๐ ใน ๔ สาขา ได้แก่ โทรคมนาคม (E-ASEAN) สุขภาพ ท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ และการเปิดเสรีใน ๘ สาขาวิชาชีพที่ทำให้แรงงานในสาขาวิชาชีพดังกล่าวสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระภายใต้เงื่อนไขที่แต่ละประเทศกำหนด

                  ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศไทยจะต้องดำเนินการใน ๕ ด้าน ดังนี้

                  ๑. ปรับปรุงสินค้าและบริการ ให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้นโยบายการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยอาจพิจารณาสิ่งที่ไทยสามารถแข่งขันได้และมีความเข้มแข็งก็รักษาและคงไว้ และ สิ่งที่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็จะต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น

                  ๒. ลดความซ้ำซ้อนและความไม่โปร่งใสในด้านกฎ/ระเบียบต่าง ๆ  เช่น ระบบภาษี  กฎระเบียบ และการขนส่งสินค้า เพื่อให้มีรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ      

                  ๓. หามาตรการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบทางลบจากการเป็นประชาคมอาเซียน เช่น โรคระบาด ยาเสพติด สินค้าผิดกฎหมาย  เนื่องจากไทยมีที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาค

                  ๔. ร่วมกันกับประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างอาเซียนให้เข้มแข็ง เนื่องจากปัจจุบัน มหาอำนาจภายนอกประสงค์จะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น เช่น สหรัฐฯ กับจีน ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มหาอำนาจเข้ามาแข่งขัน อาจทำให้อาเซียนสูญเสียความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

                  ๕. ปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยเฉพาะการเรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการเข้าไปทำการค้าการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ  เพราะอาเซียนมีปริมาณการค้าระหว่างกันประมาณร้อยละ ๒๕ อาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทย และไทยได้เปรียบดุลการค้ามาตลอด ๑๕ ปี

                  จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง มีรายได้จากการค้าชายแดนสูงเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้รวมของจังหวัด มีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เป็นจุดเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์ และมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ดังนั้น สงขลาจึงเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพมาก

                  หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา กล่าวว่า สงขลาเป็นจังหวัดชายแดนที่มีพรมแดนติดต่อกับมาเลเซีย และเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง มีด่านสะเดาเป็นขุมทองการค้าชายแดนที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศปีละกว่า ๕ แสนล้านบาท โดยในปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ของจังหวัดไว้ว่า “สงขลา ศูนย์กลางการค้า อุตสาหกรรมเกษตร ท่องเที่ยว เมืองสีเขียว ประชาชนมีคุณภาพสู่ อาเซียน” 

                  ในส่วนของนโยบายภาครัฐ คสช. ได้ประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณพื้นที่ อำเภอสะเดา ซึ่งถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่จังหวัดจะต้องดำเนินการ โดยพิจารณาในเรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุน การให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจและเชื่อมโยงภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ โครงการภายใต้ IMT-GT ได้มีการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ใน ๖ สาขา เพื่อให้ภาคเอกชนในจังหวัดภาคใต้มีความตื่นตัวในการเข้าร่วมโครงการ และมีความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียน

                  อย่างไรก็ตาม สงขลายังต้องมีการพัฒนาสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น การสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งที่สอง รถไฟทางคู่ ท่าเทียบเรือแห่งที่สอง (ท่าเรือปากบารา) รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีป้ายบอกทาง ๒ ภาษา (ไทยและอังกฤษ) และการจัดระเบียบรถโดยสารระหว่างไทยกับมาเลเซีย

                  เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จังหวัดสงขลาได้มุ่งเน้นพัฒนาทักษะด้านภาษาให้แก่เจ้าหน้าที่ การจัดทำแผนปฏิบัติงานเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนใน ๓ เสาหลัก  รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมายต่างๆ

                  ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ด้วยจุดเด่นทางด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัดซึ่งตั้งอยู่จุดกลางของอาเซียน โดยมีประชากรที่อยู่ใต้สงขลาลงมา (รวมทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซียด้วย)  รวมกันมากกว่า ๓๐๐ ล้านคน จากประชากรอาเซียนทั้งหมด ๖๐๐ ล้านคน  จังหวัดสงขลามีความพร้อมทั้งทางรถไฟ ถนน และท่าเรือ ขณะเดียวกันก็มีสนามบินนานาชาติ ทำให้สามารถเชื่อมโยงสู่นานาชาติมีรายได้จากการส่งสินค้าออกปีละกว่า ๔ แสนล้านบาท หอการค้าฯ จึงพยายามผลักดันให้ “จังหวัดสงขลาเป็นเมืองหลวงของ AEC”

                        ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC นั้น จังหวัดสงขลาเน้นการพัฒนามาตรฐานของผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP โดยเฉพาะเรื่องภาษาที่จำเป็นต้องพัฒนาทั้งภาษาอังกฤษ จีน และภาษามาลายู และมีการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

                        ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ หอการค้าฯ ได้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การสร้างมอเตอร์เวย์สะเดา-หาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง รัฐบาลยังได้บรรจุแผนการลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ มาปะดังเบซาร์ 

                        ในด้านการศึกษา สงขลามีมหาวิทยาลัย ๗ แห่ง มีนักศึกษาต่างชาติมากกว่า ๖ หมื่นคน ทำให้สงขลาสามารถเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภูมิภาคได้

                        นอกจากนี้ สงขลาได้ร่วมลงนาม MOU ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับหอการค้าจีนใน ๔ รัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย เพื่อขยายการค้าการลงทุนของจังหวัดอีกด้วย

                        นายกสมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมต้องพัฒนาคนรุ่นใหม่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะด้านภาษา ทั้งภาษามลายู ภาษาบาฮาซา ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ที่ได้รับความสนใจมากก็คือภาษาบาฮาซา เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดเพิ่มมากเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซีย

                        การเปิดประชาคมอาเซียนจะได้รับประโยชน์มหาศาล ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมากกว่า ๓ ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นภายหลังเป็นประชาคมอาเซียน สงขลาจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ศูนย์กลางการจัดประชุม/สัมมนา ซึ่งจังหวัดก็มีความพร้อมด้านการบริการ การต้อนรับ อาหาร และสปา ส่วนเรื่องการลงทุนต่าง ๆ ของภาคธุรกิจ มีการเปิดห้าง สรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ลงทุนสร้างกว่า ๖,๐๐๐ ล้านบาท การสร้างตลาดน้ำหาดใหญ่ ซึ่งใช้งบประมาณกว่า ๒,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว คาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนปีละกว่าหมื่นล้านบาท

                        นายกสมาพันธ์ฯ ได้ขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะในเรื่องของแหล่งเงินทุน และการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการ

                   ๓. การเยี่ยมโรงเรียนบ้านคลองหวะ อ.หาดใหญ่

                        คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมโรงเรียนบ้านคลองหวะ ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ. และโรงเรียนในเครือข่ายยุวทูตความดี โดยคณะฯ ได้จัดกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาเซียนให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาจำนวน ๑๐๐ คน นอกจากนี้ กรมอาเซียนจะจัดหาหนังสือเกี่ยวกับอาเซียนให้แก่โรงเรียน เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับอาเซียนในแก่เยาวชนและสาธารณชนในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป

-------------------------------------------

                                                                                                                     สำนักงานเลขานุการกรม 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ