กิจกรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดภูเก็ต

กิจกรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดภูเก็ต

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,918 view

                       กรมอาเซียนได้จัดกิจกรรมอาเซียนสัญจร ครั้งที่ ๑๑ ณ จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ ๑-๒ กันยายน ๒๕๕๗ โดยมีนายอรรธยุทธ์ ศรีสมุทร อธิบดีกรมอาเซียน เป็นหัวหน้าคณะ นั้น

                       กรมอาเซียนขอเรียนสรุปสาระสำคัญของการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ดังนี้

                       ๑. การเข้าเยี่ยมคารวะผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

                           เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๗ ระหว่างเวลา ๑๑.๓๐ – ๑๑.๔๕ น. อธิบดีกรมอาเซียนและคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อแจ้งวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมอาเซียนสัญจร รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน อาทิ การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่นักเรียนโรงเรียนวิชิตสงครามจังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๗ นอกจากนี้ กรมอาเซียนยังได้ดำเนินโครงการจัดสร้างห้องสมุดอาเซียนให้แก่โรงเรียนในจังหวัดต่างๆ รวม ๘ แห่งสำหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๗

                           ผู้ว่าราชการฯ กล่าวถึงความสำคัญของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และได้แจ้งการดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศที่เป็น Friends of Phuket นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตและกระทรวงฯ ก็มีความร่วมมือในการดำเนินงานในมิติด้านการต่างประเทศเป็นอย่างดี

                      ๒. การเสวนาเรื่อง “การท่องเที่ยวภูเก็ตกับความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี ๒๕๕๘” 

                           เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๗ ระหว่างเวลา ๑๔.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. กรมอาเซียนได้จัดการเสวนาเรื่อง “การท่องเที่ยวภูเก็ตกับความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘” ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ โดยมีวิทยากรประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต อธิบดีกรมอาเซียน ผู้อำนวยการด้านตลาดอาเซียน เอเชีย แปซิฟิก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาประมาณ  ๑๐๓ คน ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการและองค์กรท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และสื่อมวลชน การเสวนาได้แบ่งออกเป็น  ๒ ช่วง สรุปสาระสำคัญของการเสวนาได้ ดังนี้

                           ผู้ว่าราชการฯ ได้กล่าวต้อนรับ และให้ข้อคิดเห็นว่า ในการดำเนินงานในกรอบอาเซียน ส่วนราชการต่างๆ จะต้องยึดถือคำว่า “รู้จัก” กล่าวคือ ต้องรู้จักคน รู้จักหน้า รู้จักคิด รู้สำนึกถึงความเปลี่ยนแปลง รู้ผิด รู้ถูก และ “เข้าใจ” กล่าวคือ ต้องเข้าถึง เข้าใกล้ เพื่อจะสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานของอาเซียนให้บรรลุผล

                          อธิบดีกรมอาเซียนได้กล่าวว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในหลายด้าน อาทิ มีประชากรมากเป็นอันดับ ๓ ของโลก มี GDP สูงเป็นอันดับ ๙ ของโลก มีมูลค่าการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาครวมกันสูงเป็นอันดับ ๕ ของโลก และมีการลงทุนจากต่างประเทศติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก และในปี ๒๕๕๗ มีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในภูมิภาคสูงถึงประมาณ ๑๐๐ ล้านคน อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบ/ความท้าทายใน ๔ ด้าน ดังนี้

                          ๑. ผลกระทบจากการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของอาเซียน การลดภาษีสินค้าเหลือร้อยละ ๐ ทำให้ภาคเอกชนต้องปรับปรุงสินค้าและบริการ โดยเฉพาะภาคการเกษตรให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การเคลื่อนย้ายแรงงานจะมีเพิ่ม มากขึ้นเมื่อเป็นประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายของผู้ประกอบวิชาชีพ ๘ สาขา ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการให้สูงขึ้นเพื่อพร้อมรับกับการแข่งขันจากคนชาติอาเซียนอื่นๆ

                          ๒. ผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค เช่น โรคระบาด ยาเสพติด สินค้า ผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ มลภาวะ เนื่องจากไทยมีที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาค จึงจำเป็นต้อง  หามาตรการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาข้ามแดนดังกล่าว นอกจากนี้ ความซ้ำซ้อนและความไม่โปร่งใสในด้านกฎ/ระเบียบต่างๆ มาตรฐานที่แตกต่างและไม่สอดคล้องกัน  เช่น ระบบภาษี การขนส่งสินค้า การค้า การบริการ และการลงทุน การบริหารจัดการข้ามแดน รวมถึงการพัฒนา Single Window จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและมีการดำเนินงานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย     

                          ๓. การสร้างความสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ ไทยจะต้องร่วมมือกับประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างอาเซียนให้เข้มแข็ง เนื่องจากปัจจุบัน มหาอำนาจภายนอกประสงค์จะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น เช่น สหรัฐฯ กับจีน ทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มหาอำนาจเข้ามาแข่งขัน  อาจทำให้อาเซียนสูญเสียความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

                          ๔. การปรับเปลี่ยนทัศนคติ  คนไทยจะต้องมองความร่วมมือในบริบทที่เกินกว่าประเทศไทยโดยเฉพาะการเรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการเข้าไปทำการค้าการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ  เพราะอาเซียนมีปริมาณการค้าระหว่างกันประมาณร้อยละ ๒๕ อาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทย และไทยได้เปรียบดุลการค้ามาตลอด ๑๕ ปี

                          อธิบดีกรมอาเซียน ได้เสนอยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของจังหวัดภูเก็ตประกอบด้วย ๙ ด้าน ได้แก่ (๑) การเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในแก่ภาคส่วนต่างๆ และสาธารณชนของจังหวัดภูเก็ต (๒) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการส่งเสริมด้านการศึกษา  (๓) การพัฒนามาตรฐานการบริการ (๔) การปรับปรุง/แก้ไขกฎ/ระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องและรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน และต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ (๕) การพัฒนาให้จังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ (๖) การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ (๗)  ส่งเสริมให้จังหวัดภูเก็ตเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว เป็น  World Class Destination (๘) เป็นศูนย์กลางการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้และอาหาร และ (๙) เป็น Medical Hub

                          ผู้ว่าราชการฯ ได้กล่าวเพิ่มเติม ดังนี้

                          ๑. การดำเนินงานอาเซียนของจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยหลักการ 4C ได้แก่ Community, Connectivity, Communication และ Competitiveness โดยมีความร่วมมือในลักษณะ (๑) City to City ระหว่างภูเก็ตกับเมืองที่เป็น Friends of Phuket (๒) Cluster to Cluster โดยมีการรวมกลุ่มกันในลักษณะเป็นกลุ่ม อาทิ กลุ่มอันดามัน (๓) Customer to Customer ระหว่างนักธุรกิจกับนักธุรกิจ และ (๔) Citizen to Citizen ระหว่างประชาชนกับประชาชน

                          ๒. ภูเก็ตมีจุดขายที่ดึงดูดการท่องเที่ยว รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ (๑) ภูเก็ตมีทั้งชายหาด ทะเล เกาะแก่ง และธรรมชาติ ที่สวยงาม

(๒) สนามบิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายสนามบินเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวให้ได้ 12-16 ล้านคนต่อปี (๓) ท่าเรือ ได้มีการปรับปรุงและขยายหน้าท่าให้กว้างขึ้น (๔) มีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยทางทะเล (Phuket Yacht Control Center)  (๕) มีศูนย์กลางการประชุมนานาชาติ และ (๖) มีการพัฒนาบุคลากรทั้งในด้านภาษาประเทศเพื่อนบ้าน และการบริการ

                          ๓. อย่างไรก็ดี การเป็นประชาคมอาเซียนก่อให้เกิดผลกระทบ/ความเสี่ยงสำหรับจังหวัดภูเก็ต อาทิ แรงงานต่างด้าวมีเพิ่มมากขึ้น (ปัจจุบันมีประมาณ 190,000 คน) ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การหลบหนีเข้าเมือง ปัญหาจราจรและมลภาวะ

                          ผู้แทน ททท. กล่าวถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาคที่มีผลต่อมิติด้านการท่องเที่ยว ทั้งในเชิงท่องเที่ยว วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น ทุกประเทศจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

                          กลยุทธ์ของไทยในการขยายโอกาสด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย ภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่ตั้งของไทยที่อยู่จุดศูนย์กลางของภูมิภาคสามารถเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ไทยเป็น broker  กรอบความร่วมมือเหลี่ยมเศรษฐกิจต่างๆ จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของภูมิภาค และการพัฒนาบุคลากรให้มีข้อมูลและรู้เท่าทันผลกระทบที่จะมีต่อเสถียรภาพในด้านการแข่งขัน

                          ภูเก็ตมีศักยภาพในฐานะเป็น end user destination นักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ตจะไม่เดินทางต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวแห่งอื่น บุคลากรมีศักยภาพ อีกทั้งมีแหล่งทุนสนับสนุน

                          ผู้แทนสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เห็นว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เหมาะที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการบิน (aviation hub) เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระเบียบเศรษฐกิจใต้ (Southern Economic Corridor) เป็นจังหวัดที่มีโอกาสทางด้านธุรกิจด้านท่องเที่ยว

 

                        ๓. การเยี่ยมโรงเรียนวิชิตสงคราม จังหวัดภูเก็ต

                             คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมโรงเรียนวิชิตสงคราม ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ และโรงเรียนในเครือข่ายยุวทูตความดี โดยคณะฯ ได้จัดกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาเซียนให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาจำนวน  ๒๐๐ คน ทั้งนี้ นักเรียนและคณะครูต่างกระตือรือร้นและให้ความร่วมมือและมีความสนใจในการจัดกิจกรรมฯ เป็นอย่างดี ทั้งนี้ กรมอาเซียนจะจัดหาหนังสือเกี่ยวกับอาเซียนให้แก่โรงเรียน เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับอาเซียนในแก่เยาวชนและสาธารณชนในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป

--------------------------------------------------------------------                       

                                                             กองยุทธศาสตร์และความร่วมมืออาเซียน

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ