กิจกรรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดกระบี่

กิจกรรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดกระบี่

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 4,145 view

            กรมอาเซียนได้จัดกิจกรรมอาเซียนสัญจร ครั้งที่ ๙/๒๕๕๗ ณ จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ ๘-๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ โดยมีนายดุสิต เมนะพันธุ์ และนางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน เป็นหัวหน้าคณะ สรุปสาระสำคัญของกิจกรรมดังกล่าวได้ ดังนี้

๑. การพบปะสื่อมวลชนท้องถิ่น

                    ๑.๑ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ระหว่างเวลา ๑๓.๓๐ – ๑๔.๐๐ น. นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ รองอธิบดีฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนท้องถิ่นของจังหวัดกระบี่ ณ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ โดยรองอธิบดีฯ ชี้แจงว่า โครงการอาเซียนสัญจรครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๙ ของการจัดกิจกรรมอาเซียนสัญจร         ในปีนี้ ซึ่งกรมอาเซียนในฐานะสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติมีหน้าที่หลักในการเสริมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชนไทยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และได้แจ้งกำหนดการและกิจกรรมของโครงการอาเซียนสัญจรครั้งนี้ ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นมิติหลัก นอกจากนี้ รองอธิบดีฯ  ได้แจ้งเพิ่มเติมว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และได้หยิบยกตัวอย่างประเด็นเรื่องการพัฒนามนุษย์ที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาเซียน การพัฒนาศักยภาพแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทักษะด้านภาษา

                     ๑.๒ รองอธิบดีฯ ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเรื่องการดำเนินงานของกระทรวงฯ  ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า กระทรวงฯ มีภารกิจหลักในการเสนอแนะเชิงนโยบาย และทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ของอาเซียน ในส่วนของการเตรียมความพร้อมของไทยในภาพรวมนั้น ไทยได้ดำเนินการไปแล้วประมาณร้อยละ ๘๔ ของแผนงาน (Roadmap) ของอาเซียน ซึ่งนอกเหนือจากการทำตามแผนงานแล้ว ยังมีการดำเนินงานเพื่อปรับแก้กฎหมาย การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความตระหนักรู้ ซึ่งไทยมีความตื่นตัวมาก ข้อมูลต่างๆ ต้องมีความถูกต้องแม่นยำ บทบาทของสื่อมวลชนในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ

                ๒. กิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ณ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ระหว่างเวลา ๑๔.๐๐ – ๑๕.๓๐ น. โดยมีผู้บริหารของวิทยาลัย คณะอาจารย์ และนักศึกษาประมาณ  ๒๐๐ คน เข้าร่วม โดยได้จัดกิจกรรมถาม-ตอบปัญหาเกี่ยวกับอาเซียน และแจกสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องประชาคมอาเซียน ซึ่งกรมอาเซียนได้จัดทำขึ้นซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

               ๓. การเสวนาเรื่อง “ท่องเที่ยวไทยใน AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน)ณ โรงแรมพีซลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ สปา  เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. วิทยากรประกอบด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ รองประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานกระบี่ และผู้อำนวยการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานกระบี่ และมีผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจ กรมอาเซียนเป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาประมาณ ๙๐ คน ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการและองค์กรท้องถิ่น ภาคเอกชน นักศึกษา และสื่อมวลชน สาระสำคัญของการเสวนาสรุปได้ ดังนี้

                    ๓.๑ รองอธิบดีกรมอาเซียน (นายดุสิตฯ) กล่าวเปิดการเสวนา โดยย้ำวัตถุประสงค์หลักของการจัดกิจกรรมอาเซียนสัญจรในจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีศักยภาพสูงทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นประเด็นความร่วมมือของอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานภายใต้ทั้ง ๓ เสาหลักของประชาคมอาเซียน รวมทั้งการดำเนินงานตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนด้วย นอกจากนี้ ยังได้กล่าวชื่นชมจังหวัดกระบี่ว่า เป็นจังหวัดตัวอย่างด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำปฏิญญาด้านการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างจังหวัดและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

                   ๓.๒ รองผู้ว่าฯ กล่าวต้อนรับและร่วมการเสวนา โดยย้ำว่า กระบี่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่หลากหลาย และเน้นมาตรการในการรักษาเอกลักษณ์ของจังหวัด รักษาจุดยืนของการเป็นเมืองท่องเที่ยวคุณภาพ และมุ่งเน้นการท่องเที่ยวพักผ่อนเชิงนิเวศน์ โดยได้ร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อทำให้กระบี่ “go green” เช่น การไม่มีเตียงผ้าใบอยู่ริมชายหาด ไม่มีบานาน่าโบ้ท และพยายามยกระดับมาตรฐานความเป็นเมืองท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ กระบี่เป็นจังหวัดแรกที่มีปฏิญญาการท่องเที่ยวกำหนดแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของทุกภาคส่วนในจังหวัดไปสู่ความยั่งยืน กระบี่มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรวมถึงการขยายถนนเป็นสี่ช่องทางเดินรถ การปรับปรุงท่าอากาศยาน การพัฒนาท่าเรือน้ำลึก และได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์กระบี่ ๒๐๒๐ โดยหารือกับทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันในการรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งคาดว่าสถิตินักท่องเที่ยวในอีก ๕ ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น ๕ ล้านคน

                    ๓.๓ รองประธานหอการค้าฯ ย้ำว่ากระบี่มีศักยภาพและมีความพร้อมสูง แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ผลกระทบจากการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ภายใต้ AEC กระบี่มีความเข้มแข็งในเรื่องความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า สามประสาน และกล่าวถึงกลุ่มธุรกิจ SME ๘ ประเภทที่น่าจะได้ประโยชน์จาก  AEC ได้แก่ ยานยนต์ เกษตรและพลังงานทดแทน ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ ก่อสร้างโทรคมนาคม  การผลิตและการบริการเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยว และสันทนาการ

                    ๓.๔ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่  ในช่วง ๒-๓ ที่ผ่านมากระบี่เริ่มมองตลาดนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดมากที่สุด รองมาคือสิงคโปร์ ซึ่งส่งผลให้มีการขยายตัวด้านการคมนาคมขนส่ง อาทิ สายการบินต่าง ๆ มีเที่ยวบินตรงมาที่กระบี่มากขึ้น และแสดงความเชื่อมั่นว่า กระบี่จะได้รับผลประโยชน์จาก AEC อย่างแน่นอน ซึ่งรวมถึงการขยายตัวของการขนส่งข้ามแดนและการเคลื่อนย้ายของแรงงานฝีมือ ซึ่งกระบี่ยังขาดแคลนแรงงานเหล่านี้เพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงเสียเปรียบในเรื่องของภาษา และการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรีเป็นสิ่งที่น่ากังวล เช่น ถ้ามีนายทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนหรือร่วมทุน อาจทำให้ภาครัฐควบคุมทิศทางไม่ได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กระบี่ยังคงมีผู้ถือกรรมสิทธิ์กิจการเป็นคนท้องถิ่นจำนวนมาก

                    ๓.๕ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่ กระบี่มีความพร้อมในด้านการรองรับนักท่องเที่ยวจากหลากหลายภูมิภาค ศาสนา และวัฒนธรรม ทั้งไทยมุสลิม (อาหารฮาลาล) จีน และชาติตะวันตก นอกจากนี้ สปาเป็นจุดเด่นของจังหวัด ผู้ว่าฯ ต้องการให้กระบี่พัฒนาไปสู่เป็น Spa City นอกจากนี้ กระบี่มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่สวยงาม โดยเปรียบเทียบความงดงามของอ่าวพังงาซึ่งไม่แพ้ฮาลองเบย์ของเวียดนาม

                    ๓.๖ รองอธิบดีกรมอาเซียน  กล่าวเสริมว่า การกำหนดเป้าหมายการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ นั้น แม้จะไม่สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนเนื่องจากการดำเนินการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นกระบวนการที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่มีนัยสำคัญในทางจิตวิทยา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้อาเซียนมีความร่วมมือในทุกด้านที่ลึกซึ้งมากขึ้น กระบวนการการรวมตัวในภูมิภาคมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะการกำหนดเป้าหมายทำให้เกิดความกระตือรือร้น ทุกภาคส่วนมีความกระตือรือร้นมากขึ้นเพราะกลัวตกขบวน ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ดำเนินงานสำเร็จเกินค่าเฉลี่ยของอาเซียน ในขณะที่สิงคโปร์ได้ดำเนินงานก้าวหน้าไปมากแล้ว ทั้งนี้ การดำเนินงานใด ๆ ควรคำนึงถึงการจำกัดผลกระทบเชิงลบให้น้อยที่สุดด้วย

                   ๓.๗ ช่วงถาม-ตอบ

                          ๓.๗.๑  ต่อข้อซักถามว่า AEC เป็นการรวมตัวในภูมิภาคที่มุ่งสู่การรวมกลุ่มในรูปแบบเดียวกันกับ EU หรือไม่ ผอ. กองเศรษฐกิจ ชี้แจงว่า รูปแบบการรวมตัวของอาเซียนไม่เหมือนกับ EU อาเซียนไม่มีสกุลเงินเดียวกัน ไม่มีหน่วยงานเหมือนกับคณะกรรมาธิการยุโรป แม้อาเซียนมีสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งทำงานในลักษณะผู้ประสานงานเป็นส่วนใหญ่ แต่ สลธ. อาเซียนไม่มีอำนาจใน   การเสนอร่างกฎหมาย หรือการออกกฎระเบียบในระดับภูมิภาค หรือบังคับประเทศสมาชิก ดังนั้นกระบวน  การรวมตัวของอาเซียนไม่ลึกเท่า EU แต่เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีอาเซียนสามารถเรียนรู้เรื่องการรวมตัวจาก EU ได้ รองผู้ว่าฯ กล่าวเสริมว่า ในปี ๒๐๑๕ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน  AEC ส่งผลทางจิตวิทยา เพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยและอาเซียนในเวทีโลก ดังนั้น ไทยควรแสวงโอกาส และใช้ประโยชน์จาก AEC อย่างเต็มที่

                        ๓.๗.๒ ผู้ฟังจากภาคเอกชนแสดงความกังวลว่า คนต่างชาติทั้งในและนอกอาเซียนซึ่งอาจไม่มีความรู้สึกผูกพันและหวงแหนพื้นที่ แต่มีโอกาสในการเข้ามาแสวงประโยชน์ในการทำธุรกิจ    อาจสร้างความเสียหายแก่พื้นที่ได้ และการเปิดเสรีภาคการค้าบริการอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหานี้มากขึ้นได้ ภาครัฐจะมีกลไก กติกา มาตรการต่าง ๆ เพื่อรักษาคุณภาพและความยั่งยืนอย่างไร รองผู้ว่าฯ เห็นด้วยกับข้อห่วงกังวลนี้ และย้ำว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมผู้ประกอบการต่างชาติ โดยจังหวัดได้มีการจัดระเบียบพื้นที่ท่องเที่ยว อาทิ อ่าวนาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการประกอบกิจการด้านการท่องเที่ยวโดยชาวต่างชาติจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทั้งนี้ ขอรับประเด็นนี้ไปหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อหามาตรการที่ยั่งยืนต่อไป

                        ๓.๗.๓ ผู้ฟังแสดงความเห็นว่า ปัจจุบัน การท่องเที่ยวในกลุ่มกีฬามีกำลังซื้อสูงมากขึ้น เช่น การเก็บตัวของนักกีฬาในกระบี่ ทางจังหวัดมีมาตรการรองรับกลุ่มท่องเที่ยวเหล่านี้หรือไม่ รองผู้ว่าฯ ตอบรับว่า เป็นแนวคิดที่ดีที่จังหวัดจะนำไปพิจารณาต่อไป และเสนอแนวคิดเรื่องการพัฒนาค่ายลูกเสือ

                        ๓.๗.๔ ผู้ฟังได้หยิบยกกรณีปัญหาที่มีผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวเข้าไปเสนอบริการให้นักท่องเที่ยวในลักษณะที่กรูกันเข้าไปหรือรุมล้อม ผู้อำนวยการ ททท. กล่าวว่า เป็นปัญหาใหญ่มากระดับประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวใหญ่อื่น ๆ ด้วย อาทิ ภูเก็ต พัทยา ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

                        ๓.๗.๕ รองประธานหอการค้าฯ  ได้สอบถามเกี่ยวกับกระบวนการในการเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากอาเซียน  ผอ. กองเศรษฐกิจ ชี้แจงว่า สามารถเสนอโครงการผ่านกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการผลักดันนโยบายและการดำเนินความร่วมมือเรื่องการท่องเที่ยวในกรอบอาเซียนในระดับสาขา (ASEAN Tourism Ministers Meeting) ซึ่งมีแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวในระดับอาเซียนอยู่ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านการกำหนดการจัดทำ MRA สำหรับวิชาชีพท่องเที่ยว (Tourism Professional) และการพัฒนามาตรฐานสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อม สปา และห้องน้ำสาธารณะ เป็นต้น จึงอาจใช้ประโยชน์จากกรอบอาเซียน เช่น เสนอโครงการที่สอดคล้องกับแผนดังกล่าวได้ และกล่าวเสริมว่า เนื่องจากการท่องเที่ยวมีความเชื่อมโยงกับ การพัฒนาในด้านอื่น เช่น การบิน อาหาร สินค้าเกษตร ซึ่งกระบี่สามารถเป็นผู้ขับเคลื่อนได้ อาทิ การท่องเที่ยว สอดคล้องกับการพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่ม เช่น การใช้น้ำมันปาล์มมาพัฒนาการทำของฝากหรือช็อคโกแลต โดยสำนักงานผู้ว่าจังหวัดกระบี่เห็นว่า นอกจากการท่องเที่ยวแล้วกระบี่ยังสามารถเป็นเสมือน showroom สำหรับสินค้าและภาคบริการด้วย 

--------------------------------------------------

กองเศรษฐกิจ กรมอาเซียน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ