11,260 view

โครงสร้างกรม

 

                       กรมอาเซียนจัดตั้งขึ้นโดยมีฐานะเป็นกรมครั้งแรกภายใต้ชื่อ ” สำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทย” เมื่อปี 2520 โดยมีการแบ่งส่วนราชการออกเป็น 4 กอง และ 1 สำนักงาน ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม กองพาณิชย์และอุตสาหกรรม กองนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง กองคมนาคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกองสังคม วัฒนธรรมและสนเทศ[1]

                        ต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมอาเซียน” ในปี 2541[2] และมีการเปลี่ยนชื่อกองต่าง ๆ ในปี 2545 เป็นกองอาเซียน 1 กองอาเซียน 2 กองอาเซียน 3 และกองอาเซียน 4 ตามลำดับ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของงานที่เปลี่ยนไป[3]

                        เพื่อรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นในการเป็นประชาคมอาเซียนซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2558 กรมอาเซียนจึงมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน หรือการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนให้แก่สาธารณชนภายในประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

                        ในการนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2555 อนุมัติการปรับโครงสร้างกรมอาเซียน โดยการยกระดับกลุ่มงานยุทธศาสตร์และความร่วมมืออาเซียนซึ่งเคยอยู่ภายใต้สำนักงานเลขานุการกรมขึ้นเป็นกอง พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนชื่อและภารกิจของกองต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม

                        กรมอาเซียนภายใต้โครงสร้างใหม่มีการแบ่งส่วนราชการเป็น 5 กอง และ 1 สำนักงาน ได้แก่

                        1. สำนักงานเลขานุการกรม รับผิดชอบงานบริหารของกรม การประชาสัมพันธ์และการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน และงานด้านพิธีการและอำนวยการ

                        2. กองยุทธศาสตร์และความร่วมมืออาเซียน รับผิดชอบภาพรวมความร่วมมือและการดำเนินงานของอาเซียน เช่น พัฒนาการ นโยบาย ยุทธศาสตร์ การประชุมสุดยอดอาเซียน คณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ การเตรียมความพร้อมของไทยสู่ประชาคมอาเซียน การรับสมาชิกใหม่อาเซียน เป็นต้น

                        3. กองการเมืองและความมั่นคง รับผิดชอบงานด้านการเมืองและความมั่นคง และการประชุมในเสาการเมืองและความมั่นคง ASEAN Regional Forum (ARF) และ ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights (AICHR)

                        4. กองเศรษฐกิจ รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจและการประชุมในเสาเศรษฐกิจ Initiative for ASEAN Integration (IAI) การจัดทำ FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาและ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) และความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity)

                        5. กองสังคมและวัฒนธรรม รับผิดชอบงานด้านสังคมและวัฒนธรรม และการประชุมในเสาสังคมและวัฒนธรรม ได้แก่ ความร่วมมือด้านแรงงาน สตรี เยาวชน สาธารณสุข ยาเสพติด โรคเอดส์ การจัดการภัยพิบัติ สวัสดิการสังคมและการพัฒนาสังคม การพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน โครงข่ายรองรับทางสังคม รางวัลอาเซียน เป็นต้น

                        6. กองความสัมพันธ์กับคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศ รับผิดชอบงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศ การประชุมอาเซียน+3 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit)

                        นอกจากนี้ กรมอาเซียนยังมีการเพิ่มตำแหน่งรองอธิบดีกรมอาเซียนจาก 2 ตำแหน่ง เป็น 3 ตำแหน่ง เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างใหม่ด้วย

 

 


 

[1] พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2520 เล่ม 94 ตอนที่ 6 ราชกิจจานุเบกษา 18 มกราคม 2520

[2] พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2541 เล่ม 115 ตอนที่ 60 ก ราชกิจจานุเบกษา 11 กันยายน 2541

[3] กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2545 เล่ม 119 ตอนที่ 105 ก ราชกิจจานุเบกษา 14 ตุลาคม 2545