วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 ต.ค. 2567

| 453 view

ประวัติกรมอาเซียน

 

  • สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (Association of Southeast Asian Nations – ASEAN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 และกำหนดให้ประเทศสมาชิกจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก ในส่วนของไทยได้จัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ (ไทย) โดยสังกัดกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศ
  • ต่อมา อาเซียนได้เติบโตขึ้นอย่างเป็นลำดับในฐานะองค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค ส่งผลให้มีภาระงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ (ไทย) แยกเป็นเอกเทศจากกรมเศรษฐกิจ เพื่อให้การทำงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ (ไทย) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีเจ้าหน้าที่และงบประมาณรองรับอย่างเป็นระบบ
  • เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2519 ได้มีการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาจัดตั้ง “สำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทย”[1] โดยมีสถานะเทียบเท่ากับกรม และนับเป็นหน่วยงานระดับกรมลำดับที่ 9 ของกระทรวงการต่างประเทศ โดยมี นายชวาล ชวณิชย์ เป็นเลขาธิการอาเซียนแห่งประเทศไทยคนแรก และได้แบ่งโครงสร้างส่วนราชการเป็นกองต่าง ๆ ได้แก่ (1) สำนักงานเลขานุการกรม (2) กองพาณิชย์และอุตสาหกรรม(3) กองนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง (4) กองคมนาคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (5) กองสังคม วัฒนธรรมและสนเทศ[2]
  • เมื่อปี 2519 สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat: ASEC) ได้ถูกจัดตั้ง ณ กรุงจาการ์ตา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า ชื่อสำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทยมีความซ้ำซ้อนกับชื่อสำนักเลขาธิการอาเซียนและอาจเกิดความสับสนได้ ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อเปลี่ยนชื่อสำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2527 ได้มีการประกาศในพระราชกิจจา-นุเบกษา ให้เปลี่ยนชื่อสำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทยเป็น “กรมอาเซียน” [3] โดยมีนายสากล วรรณพฤกษ์ เป็นอธิบดีกรมอาเซียนคนแรก และยังคงโครงสร้างส่วนราชการไว้เช่นเดิม
  • เมื่อปี 2545 มีการปรับโครงสร้างส่วนราชการของกรมอาเซียน โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 5 กอง ได้แก่ (1) สำนักงานเลขานุการกรม (2) กองอาเซียน 1 (3) กองอาเซียน 2 (4) กองอาเซียน 3 (5) กองอาเซียน 4[4]
  • เมื่อปี 2556 มีการปรับโครงสร้างส่วนราชการของกรมอาเซียน โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น 6 กอง ได้แก่ (1) สำนักงานเลขานุการกรม (2) กองยุทธศาสตร์และความร่วมมืออาเซียน (3) กองการเมืองและความมั่นคง (4) กองเศรษฐกิจ (5) กองสังคมและวัฒนธรรม (6) กองความสัมพันธ์กับคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศ[5] การปรับโครงสร้างในครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างของประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วย 3  เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม และเป็นโครงสร้างส่วนราชการปัจจุบันของกรมอาเซียน

[1] พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2519 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่มที่ 93 ตอนที่ 109 ลงวันที่ 8 กันยายน 2519

[2] พระราชกฤษฏีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2520 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 6 ลงวันที่ 18 มกราคม 2520

[3] พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2527 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 101 ตอนที่ 103 ฉบับพิเศษ ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2527

[4] กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2545 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนที่ 105 ก ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2545

[5] กฎกระทรวง แบ่งส่วนราขการกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประทเศ พ.ศ. 2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 130 ตอนที่ 36 ก ลงวันที่ 23 เมษายน 2556

 

รายนามผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอาเซียน

 

สำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทย (ระหว่างปี พ.ศ. 2519 - 2527)

 ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ได้แก่

  1. นายชวาล ชวณิชย์ 2519 – 2520
  2. ม.ร.ว. เทพ เทวกุล 2520 – 2522
  3. ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี 2522
  4. นายไพบูลย์ เมาลานนท์ 2522 – 2523
  5. นายวุฒิ ชูชม 2523 – 2525
  6. นายประชา คุณะเกษม 2525 – 2527

กรมอาเซียน (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 – ปัจจุบัน)

ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี ได้แก่

  1. นายสากล วรรณพฤกษ์ 2527 – 2529
  2. นายชวัช อรรถยุกติ 2529 – 2531
  3. นายสาโรจน์ ชวนะวิรัช 2531 – 2533
  4. นางลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ 2533 – 2537
  5. นายกอบศักดิ์ ชุติกุล 2537
  6. นายสุขุม รัศมิทัต 2537 – 2540
  7. นายอนุชา โอสถานนท์ 2540 – 2543
  8. นายประดาป พิบูลสงคราม 2543
  9. นาวสาวสุจิตรา หิรัญพฤกษ์ 2543 – 2545
  10. นายกิตติ วะสีนนท์ 2545 – 2549
  11. นายนพปฎล คุณวิบูลย์ 2549 – 2550
  12. นายวิทวัส ศรีวิหค 2550 – 2553
  13. นาวาตรีอิทธิ ดิษฐบรรจง 2553 – 2554
  14. เรืออากาศโทอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร 2555 – 2557
  15. นายจักรกฤษณ์ ศรีวลี 2558 – 2560
  16. นายสุริยา จินดาวงษ์ 2560 – 2563
  17. นางสาวอุศณา พีรานนท์ 2563 – 2567
  18. นายพลพงศ์ วังแพน 2567 – ปัจจุบัน