ไทยผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภูมิภาค เพื่อเร่งฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ ๔ ในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย

ไทยผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภูมิภาค เพื่อเร่งฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ ๔ ในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,458 view

นายกรัฐมนตรีย้ำการส่งเสริมความร่วมมืออาเซียน-รัสเซีย โดยผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาวัคซีน รูปแบบเศรษฐกิจ BCG และความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค รวมทั้งยินดี ในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปีความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ ๔

เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ ๔ ในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปีความสัมพันธ์คู่เจรจาอาเซียน-รัสเซีย และครบรอบ ๓๐ ปีความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย ในปี ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๘ และครั้งที่ ๓๙ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม เป็นองค์ประธานการประชุมร่วมกับนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

ที่ประชุมฯ ได้ทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-รัสเซีย โดยเฉพาะในห้วงภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ ๓ เมื่อปี ๒๕๖๑ เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซียในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ที่ประชุมฯ ชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของรัสเซียในกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำเพื่อส่งเสริมสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus: ADMM-Plus)

นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้รัสเซียเพิ่มพูนความร่วมมือที่สอดคล้องกับสาขาความร่วมมือที่ระบุในมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) และยินดีต่อข้อเสนอของรัสเซียในการประกาศให้ปี ๒๕๖๕ เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน-รัสเซีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน รวมถึงความร่วมมือภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอ Greater Eurasian Partnership ของรัสเซีย และแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ ตามแนวคิดการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ เพื่อการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ