รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำความสำคัญของความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่ายระหว่างประเทศมหาอำนาจในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑๑

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำความสำคัญของความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่ายระหว่างประเทศมหาอำนาจในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 751 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑๑ โดยเน้นย้ำความสำคัญของความไว้เนื้อเชื่อใจ และความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และการส่งเสริมการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑๑ (11th EAS FMM) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีดาโต๊ะ เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ (H.E. Dato Erywan Pehin Yusof) รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนดารุสซาลามคนที่สอง เป็นประธานการประชุมฯ และมีรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนจากประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมด้วย

ที่ประชุมฯได้ทบทวนความคืบหน้าและหารือทิศทางความร่วมมือในอนาคตในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยเน้นความร่วมมือเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และการฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาด และเน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในการเป็นเวทีระดับผู้นำสำหรับการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจเชิงยุทธศาสตร์และการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา อีกทั้งได้สนับสนุนข้อเสนอเอกสารผลลัพธ์ ๓ ฉบับ ที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็น (๑) ด้านสุขภาพจิต (๒) การฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว และ (๓) การฟื้นฟูสีเขียว ซึ่งผู้นำจะให้การรับรองในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑๖ ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ นี้

ไทยเน้นย้ำว่า กลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ ซึ่งรวมถึงการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกสามารถเป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหารือระหว่างประเทศมหาอำนาจ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่ายอันจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในภูมิภาค นอกจากนั้น ไทยส่งเสริมความร่วมมือในการกระจายและการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม ตลอดจนการนำใช้รูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ที่เน้นความสมดุลของทุกสรรพสิ่ง (Balance of All Things) เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและความยั่งยืนในทุกมิติ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางต่อประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี และ
เมียนมา