วันที่นำเข้าข้อมูล 14 พ.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565
นายกรัฐมนตรีสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น พร้อมเสนอให้มีความร่วมมือเร่งด่วนในด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รวมทั้งด้านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาระดับรากหญ้า ในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๒
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๒ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและนายกรัฐมนตรีเวียดนาม เป็นประธานร่วม
ที่ประชุมฯ ได้ทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๘ เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น รวมทั้งหารือถึงทิศทางของความร่วมมือที่สอดคล้องกับ ๓ แนวทาง ได้แก่ (๑) แผนแม่บท ACMECS (๒) ยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และ (๓) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-๑๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
นายกรัฐมนตรีเสนอให้ร่วมมือกันใน ๓ ประเด็นที่มีความสำคัญเร่งด่วน ได้แก่ ๑) ด้านสาธารณสุข เพื่อบรรลุระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุข รวมทั้งย้ำการสนับสนุนการเข้าถึงยาและวัคซีนที่เท่าเทียมกัน ๒) การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพในอนุภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนญี่ปุ่นมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์และโครงการสะพานไทยเพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก-ตะวันตก และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งการจัดทำแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบและดิจิทัล และ ๓) การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาระดับรากหญ้า โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมข้อริเริ่ม “คูซาโนเนะ” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงของญี่ปุ่น และยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นในการจัดเวทีหารือกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ ๑ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นายกรัฐมนตรียังแจ้งให้ฝ่ายญี่ปุ่นทราบเกี่ยวกับแผนการจัดประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งต่อไป ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ ภายใต้การเป็นประธานของกัมพูชา และยืนยันความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความร่วมมือ ๓ สาขาภายใต้แผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๓) โดยจะเน้นความร่วมมือด้านสาธารณสุขและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-๑๙
ที่ประชุมฯ ได้รับรองถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๒ แสดงความชื่นชมต่อความก้าวหน้าของการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๘ และแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศสมาชิกที่จะสานต่อความร่วมมือในอนาคต พร้อมทั้งยืนยันจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๓ ที่กรุงโตเกียวในปีหน้า
กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นริเริ่มขึ้นโดยญี่ปุ่นเมื่อปี ๒๕๕๑ ประกอบด้วยสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการรวมตัวเข้ากับประชาคมอาเซียน โดยไทยมีบทบาทเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและประเทศผู้ให้ร่วมกับญี่ปุ่น
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)