นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ณ กรุงวอชิงตัน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค Next Normal

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ณ กรุงวอชิงตัน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค Next Normal

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 พ.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 17 พ.ค. 2565

| 878 view

เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ณ กรุงวอชิงตัน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ตามคำเชิญของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ในโอกาสดังกล่าว นายกรัฐมนตรีและผู้นำอาเซียน ได้พบหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนผู้นำภาคเอกชนของสหรัฐฯ

นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำกับฝ่ายสหรัฐฯ ถึงความสำคัญของการพัฒนาภูมิภาคที่มีสันติภาพ ความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อการก้าวต่อไปสู่ยุค “ความปกติถัดไป” ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยได้ผลักดันความร่วมมือใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การส่งเสริมให้สหรัฐฯ มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาค  ด้วยการทำงานร่วมกับอาเซียนและผู้เล่นสำคัญต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศของความร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งเสนอให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญกับข้อพิจารณาด้านมนุษยธรรมเพื่อเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนจากสภาวการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต่าง ๆ (๒) การฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยเชิญชวนให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ร่วมลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในภูมิภาค อาทิ สาขายานยนต์ไฟฟ้า และ (๓) การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการร่วมมือกันผลักดันแนวคิดใหม่ ๆ อาทิ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างสมดุล

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมทั้งผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ก็ได้เน้นย้ำการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อความเป็นแกนกลางของอาเซียน และการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ พร้อมทั้งประกาศข้อริเริ่มใหม่จำนวน ๑๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายความร่วมมือกับอาเซียนในด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษา ความร่วมมือทางทะเล และความมั่นคงด้านสาธารณสุข

ทั้งสองฝ่ายได้รับรองแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ในอนาคต และในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังได้ประกาศการเสนอชื่อนาย Johannes Abebe Abraham ให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอาเซียนด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ