นายกรัฐมนตรีมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือสาธารณสุข ฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบโควิด-๑๙ รับมือความท้าทายใหม่ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๗

นายกรัฐมนตรีมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือสาธารณสุข ฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบโควิด-๑๙ รับมือความท้าทายใหม่ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 948 view

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๓๗ แบบเต็มคณะ โดยขอบคุณเวียดนามที่แสดงบทบาทการเป็นประธานอาเซียนที่เข้มแข็งท่ามกลางการระบาดของโควิด-๑๙ และผลักดันวาระต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชูประเด็นการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข การพัฒนาวัคซีนโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะ การฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-๑๙ การเสริมสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนของประชาคมอาเซียน ตลอดจนการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙

เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๓๐ น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๗ แบบเต็มคณะ โดยชื่นชมเวียดนามที่ทำหน้าที่ประธานอาเซียนได้อย่างดีเยี่ยมและมีบทบาทนำในการเสริมสร้างความร่วมมือและความเข้มแข็งของอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญในการรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบจากโควิด-๑๙ โดยเน้นภารกิจสำคัญและเร่งด่วนที่อาเซียนต้องร่วมมือกัน ได้แก่ (๑) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการรับมือโควิด-๑๙ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน ซึ่งประชาชนอาเซียนควรสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม การสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ ตลอดจนการจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (๒) การส่งเสริมการฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-๑๙ แบบบูรณาการ โดยเน้นการดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ (๓) การเตรียมความพร้อมในระยะยาวของอาเซียน โดยสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากและการบูรณาการระดับภูมิภาค การเชื่อมโยงการทำธุรกรรมทางการค้าดิจิทัลในอาเซียน ส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติและผลักดันวาระของประชาชน เช่น ความมั่นคงของมนุษย์ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ (๔) การรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ โดยทุกฝ่ายต้องเน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อป้องกันการเผชิญหน้าในภูมิภาคและเพิ่มพูนความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ที่ประชุมฯ เห็นพ้องในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการรับมือโควิด-๑๙ และการฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งในระยะยาวของอาเซียน ตลอดจนสนับสนุนข้อริเริ่มต่างๆ ของอาเซียนในเรื่องโควิด-๑๙ ผู้นำอาเซียนยังเห็นพ้องในการส่งเสริมระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยมซึ่งอาเซียนยึดถือให้เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค โดยอาเซียนควรใช้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้มหาอำนาจเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะอำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนได้แสดงความยินดีต่อผลการเลือกตั้งในเมียนมา รวมทั้งหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ อาทิ สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และทะเลจีนใต้

ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนรับรองเอกสาร ๖ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๕ (Ha Noi Declaration on the ASEAN Community’s Post-2025 Vision) (๒) ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการรับรองแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ ๔ (ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๕) (Ha Noi Declaration on the Adoption of the Initiative for ASEAN Integration Work Plan IV (2021-2025)) (๓) ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับงานสังคมสงเคราะห์เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง (Ha Noi Declaration on Strengthening Social Work towards Cohesive and Responsive ASEAN Community) (๔) เอกสารว่าด้วยอัตลักษณ์อาเซียน (The Narrative of ASEAN Identity) (๕) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงดิจิทัล (ASEAN Declaration on Digital Tourism) และ (๖) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยกรอบข้อตกลงระเบียงการเดินทางของอาเซียน (ASEAN Declaration on a Framework ASEAN Travel Corridor Arrangement) นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนยังได้เห็นชอบกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework) ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ