วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.พ. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 พ.ย. 2565
กรมอาเซียนได้จัดกิจกรรมอาเซียนสัญจร ครั้งที่ ๔/๒๕๕๘ ณ จังหวัดนครพนม ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ มกราคม ๒๕๕๘ โดยมีนายดุสิต เมนะพันธุ์ รองอธิบดีกรมอาเซียนเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
๑. การเสวนาเรื่อง “นครพนมกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘” ณ ห้องเสาร์ทอง โรงแรมฟอร์จูนรีเวอร์วิว เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๘ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. มีตัวแทนจากจังหวัดนครพนมร่วมแสดงความคิดเห็นในการเสวนา ได้แก่ ๑. นายดุสิต เมนะพันธุ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ๒. นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ๓. นายชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม และ ๔. รศ.สำรวจ อินแบน ประธานคณะทำงาน ศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังจำนวน ๑๓๔ คน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
อธิบดีกรมอาเซียน
- กล่าวนำถึงความเป็นมาของอาเซียน ความสำคัญของ ๓ เสาประชาคมอาเซียน รวมถึงผลกระทบและโอกาสของประเทศไทยที่จะได้รับจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
- จังหวัดนครพนมมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๓ (นครพนม-คำม่วน) ซึ่งเปิดใช้เมื่อปี ๒๕๕๔ และมีเส้นทางหมายเลข ๘ และ ๑๒ ที่เชื่อมตรงเข้าไปสู่ลาว เวียดนาม และจีน ทั้งนี้ หลังจากเปิดใช้งานสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ ๓ มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจังหวัดนครพนมได้เติบโตแบบก้าวกระโดด จากที่เคยมีมูลค่า ๕,๐๐๐ ล้านบาทในปี ๒๕๕๔ ได้เพิ่มขึ้นเป็น ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท และ ๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๕๕ ๒๕๕๖ และ๒๕๕๗ ตามลำดับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ามูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ ๑ และจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ ๒ นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้กำหนดให้จังหวัดนครพนมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในระยะต่อไปด้วย
- การเปิดสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ ๓ ทำให้นครพนมกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยข้อได้เปรียบของเส้นทางที่สามารถเชื่อมไปยังจีน โดยผ่านลาว และเวียดนามได้
- ขณะนี้ การขนส่งจากจังหวัดนครพนมมุ่งหน้าไปยังด่านผิงเสียง เมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางภาคใต้ของจีนนั้น มีระยะทางเพียงประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางการขนส่งทางบกระหว่างจีนกับไทยที่สั้นที่สุด ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า เช่น ผลไม้ ได้หันมาใช้เส้นทางนี้เป็นส่วนใหญ่ แม้จะยังต้องเสียค่าผ่านทางอยู่ ทั้งนี้ จังหวัดนครพนมกำลังพยายามผลักดันให้การขนส่งสินค้าผ่านทางเส้นทางหมายเลข ๘ และ ๑๒ ได้รับสิทธิยกเว้นค่าผ่านทาง เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เส้นทางดังกล่าวเพิ่มขึ้น
ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม
- นครพนมถือเป็นประตูการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับลาว เวียดนาม และจีน โดยสามารถขนส่งสินค้าได้ทั้งทางรถไฟและทางรถยนต์ โดยผ่านสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ ๓ ปัจจุบัน จังหวัดนครพนมมีมูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ๕ หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเป็นสองเท่าในอนาคต หากมีการพัฒนารถไฟรางคู่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
- ประธานหอการค้าแสดงความคิดเห็นว่า ต้องการเห็นนครพนมเป็น "สิงคโปร์แห่งอีสาน" ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากเป็นเส้นทางการขนส่งระหว่างไทยกับจีนที่สั้นที่สุด โดยเป็นถนนลาดยางตลอดเส้นทางและมีทางลาดชันน้อยมาก จึงสะดวกรวดเร็วในการขนส่ง นอกจากนี้ นครพนมยังมีสนามบินอยู่ติดชายแดนลาวมากที่สุด และในอนาคตจะมีเส้นทางรถไฟสายขอนแก่น-มหาสารคาม-มุกดาหาร-นครพนมเข้ามาเสริม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าลดลงได้อีก และจะส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของนครพนมในภูมิภาค
อาจารย์มหาวิทยาลัยนครพนม
- กล่าวถึงผลดีต่อการศึกษาไทยหลังการเข้าร่วมประชาคมอาเซียนว่า จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักศึกษามากยิ่งขึ้นและสะดวกขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่าง ๆ ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม โดยมีภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง นอกจากนี้ อาจมีการเพิ่มหลักสูตรใหม่ ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในการพัฒนาการศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน คือ ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาเพื่อนบ้าน ที่คนไทยยังไม่มีความตื่นตัวเท่าที่ควร
- ควรมีการปรับระยะเวลาในการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ใกล้เคียงกันหรือควรมีการตกลงเพื่อให้การเปิดและปิดภาคเรียนตรงกันทั้งภูมิภาค ส่วนการเรียนรู้ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ โดยรัฐบาลต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมในลักษณะใดแค่ไหน และต้องดำเนินตามขั้นตอนใด เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
- ที่สำคัญภาครัฐจะต้องกระตุ้นให้บุคลากร และสังคม เห็นความสำคัญของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันในเวทีโลกต่อไป
๒. การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ณ โรงเรียนปิยะมหาราชลัย วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๘ ระหว่างเวลา ๑๔.๐๐ – ๑๕.๓๐ น. เป็นการจัดกิจกรรมถาม-ตอบปัญหา และการแจกสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอาเซียน โดยมีผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์ และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาประมาณ ๕๐๐ คน เข้าร่วม ทั้งนี้ นักเรียนของโรงเรียนมีความกระตือรือร้นในการร่วมกิจกรรมอย่างมาก
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)