กิจกรรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดเชียงใหม่

กิจกรรรมอาเซียนสัญจร ณ จังหวัดเชียงใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 มิ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,873 view

กิจกรรมอาเซียนสัญจร ณ เชียงใหม่

                 นายดุสิต เมนะพันธุ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน ได้นำคณะเจ้าหน้าที่จากกรมอาเซียน จัดกิจกรรมอาเซียนสัญจร ครั้งที่ 8 ประจำปี 2557 ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 2557 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผลการจัดกิจกรรม ดังนี้

                 1. การเข้าพบส่วนราชการท้องถิ่น

                     1.1 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ระหว่างเวลา 10.30 – 11.30 น. รองอธิบดีกรมอาเซียนได้เข้าเยี่ยมคารวะนายนาวิน สินธุสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมอาเซียนสัญจรว่า เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และ      ความตื่นตัวของประชาชนในส่วนภูมิภาคเกี่ยวกับอาเซียน รองผู้ว่าฯ กล่าวแสดงความยินดีและขอบคุณต่อการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาเซียนให้แก่ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชนในจังหวัดได้เป็นอย่างดี

                     ในช่วงค่ำวันเดียวกัน รองอธิบดีกรมอาเซียนได้เป็นเจ้าภาพอาหารค่ำแก่ผู้แทนฝ่ายจังหวัดและวิทยากร โดยมีนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเชียงใหม่ และประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ไปร่วมด้วย

                2. การจัดกิจกรรมอาเซียนสัญจร

                    2.1 การจัดกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ณ โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย มีผู้บริหารโรงเรียน คณะครูอาจารย์ และนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 1-3 ประมาณ  400 คน เข้าร่วม โดยคณะกรมอาเซียนได้จัดกิจกรรมถาม-ตอบปัญหาเกี่ยวกับอาเซียน และแจกสื่อเผยแพร่เรื่องประชาคมอาเซียน ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนอย่างมาก

                    2.2 การเสวนาเรื่อง “เชียงใหม่กับการรับมือต่อผลกระทบจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 รองอธิบดีกรมอาเซียนได้ร่วมเป็นวิทยากรกับ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาประมาณ 90 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการและองค์กรท้องถิ่น ภาคเอกชน นักศึกษา และสื่อมวลชน

                    รองอธิบดีกรมอาเซียน กล่าวถึงการรวมกลุ่มของสหภาพยุโรปที่มีการบูรณาการกันอย่างลึกซึ้งว่าอาจจะเป็นรูปแบบและทิศทางที่อาเซียนพยายามเรียนรู้และนำเป็นตัวอย่าง แม้อาเซียนจะยังพัฒนาไปไม่ถึงระดับดังกล่าว แต่ก็มีความเป็นมาหลายด้านที่คล้ายกันคือ ประเทศสมาชิกมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีภาษาของตนเอง เคยมีความขัดแย้งกันในอดีต แต่ในที่สุดก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันและเติบโตไปด้วยกัน ดังนั้น ความแตกต่างหรือความหลากหลายจึงไม่ใช่อุปสรรคสำคัญสำหรับการเป็นประชาคมของอาเซียน ซึ่งเมื่อรวมกลุ่มแล้วจะมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่และเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น มีกฎระเบียบที่ต้องปรับเข้าหากัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าขาย

                    หลายฝ่ายมักจะมองแต่เรื่องประชาคมเศรษฐกิจ (AEC) แต่ต้องไม่มองข้ามประชาคมการเมืองความมั่นคง และประชาคมสังคมวัฒนธรรมที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งนี้ ขอให้มองว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นกระบวนการที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นเพียงเป้าหมายหนึ่งที่ตั้งไว้ว่า พยายามจะบรรลุการทำงานด้านต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด แต่หลังจากนั้นอาเซียนก็ยังต้องพัฒนาสร้างประชาคมให้สมบูรณ์ขึ้นต่อไป

                     ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ เพราะมีกติกาที่ต้องอยู่ร่วมกัน เช่น การลดภาษีระหว่างกัน ซึ่งจะมีผู้ที่ได้เปรียบและเสียเปรียบ จะมีกิจการบางอย่างที่ไม่สามารถแข่งขันได้ต่อไป ในขณะที่บางกิจการก็จะเติบโตได้มากกว่าเดิม ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือก็อาจจะก่อให้เกิดการแข่งขันเรื่องค่าจ้าง และการขาดแคลนแรงงานในบางประเภท ทางด้านสาธารณสุขก็จะได้รับผลกระทบจากแรงงานย้ายถิ่น ในที่สุดประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้รับรู้ถึง   ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ ซึ่งไทยจะต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อลดผลกระทบในทางลบ และเปลี่ยนให้เป็นโอกาสสำหรับคนไทยให้ได้มากที่สุด

                     จุดเด่นของไทยตามที่มีการสำรวจไว้ คือ มีแรงงานที่มีฝีมือพอสมควร และการเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ แต่ด้านความสามารถในการค้าก็ยังเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซีย สำหรับจุดอ่อนของไทย ที่ชัดเจนที่สุดก็คือความสามารถทางภาษา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่รวมถึงภาษาประเทศเพื่อนบ้านด้วย ดังจะเห็นว่าเพื่อนบ้านของไทยหลายประเทศสามารถพูดและสื่อสารภาษาไทยได้ แต่คนไทยยังรู้ภาษาประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างน้อย

                     รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ ให้ดูแลด้านการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เชียงใหม่มีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมากกว่าหลายจังหวัดในภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว มีหลายประเทศให้ความสนใจเชียงใหม่และเข้ามาติดต่อค้าขายสร้างความสัมพันธ์ด้วย และมีกงสุลอาชีพทั้งหมด 4 แห่งและกงสุลกิตติมศักดิ์ 12  แห่ง จึงมีความเกี่ยวข้องกับต่างประเทศอยู่มาก

                     จังหวัดได้ส่งเสริมความพร้อม โดยการตั้งศูนย์ประชาคมอาเซียนเชียงใหม่ที่ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับ 3 เสาของอาเซียน โดยมีบุคลากรที่พร้อมจะให้ความรู้กับสาธารณชน ขณะนี้มหาวิทยาลัย 10 แห่งของเชียงใหม่ วางแผนจะจับคู่กับมหาวิทยาลัยในประเทศอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างประชาชนกับประชาชน นอกจากนี้ มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่ ระยะเวลา 4-5 ปี ซึ่งมีการนำประเด็นการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนรวมอยู่ด้วย เชื่อว่าเชียงใหม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยจังหวัดอื่นในภาคเหนือเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วย

                     ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ประสงค์จะเห็นเชียงใหม่เติบโตอย่างมีทิศทางและมั่นคง ต่างประเทศให้ความสนใจเชียงใหม่มาก โดยเฉพาะประเทศ + 3 ของอาเซียน (จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีปฏิสัมพันธ์กับเชียงใหม่ค่อนข้างน้อย ปัจจุบันเชียงใหม่    ต้องตั้งรับในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน และผลิตผลการเกษตร เนื่องจากนักลงทุนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะชาวจีนสนใจเข้ามาทำธุรกิจกับเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการจีนรายหนึ่งส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่จากไทยไปจีนเป็นจำนวนทั้งหมด 8,000 ตู้ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นตู้สินค้าจากเชียงใหม่จำนวน 4,850 ตู้ นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่น 100 คน ได้มาทดลองอาศัยอยู่ในเชียงใหม่   แบบระยะยาวแล้ว ซึ่งคนเหล่านี้ชอบวัฒนธรรม และไม่ชอบเมืองใหญ่ หากได้รับการบริการที่ดีและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ก็เชื่อว่าจะมีคนญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยอยู่เชียงใหม่เพิ่มขึ้น

                      เชียงใหม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทั้งศูนย์ประชุม สถานที่แสดงสินค้า สนามกีฬา  ควรจะส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ตลอดปี เช่น การตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา นอกจากนี้ ควรดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ๆ เช่น นักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิม ทั้งจากอินโดนีเซีย จีนตอนใต้ และตะวันออกกลาง ที่ยังมาเที่ยวไทยไม่มากนัก

                      นอกจากนี้ ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงบประมาณและงานด้านการต่างประเทศของเชียงใหม่ ดังนี้

                      1. ผู้ว่าฯ ไม่มีอำนาจในการจัดการเรื่องการต่างประเทศ ไม่มีงบประมาณในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

                      2. จีน โดยเฉพาะเมืองเซี่ยงไฮ้ ประสงค์จะสร้างความร่วมมือกับเชียงใหม่มานานแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้

จึงขอฝากให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นด้วย

                     ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเชียงใหม่

                      การท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อการสร้างรายได้ให้จังหวัด ในปี 2555 อาเซียนเป็นตลาดสำคัญของไทยและเชียงใหม่

                      เชียงใหม่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และยังมีโอกาสดึงดูดนักท่องเที่ยวอาเซียนอีกมาก โดยเฉพาะจากอินโดนีเซียที่ยังเดินทางมาไทยไม่มาก

                      ททท. เน้นการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ขึ้น ทั้งนี้ วัฒนธรรมเป็นจุดแข็งของเชียงใหม่ จึงต้องรักษาไว้ให้ดี

                      ช่วงถาม-ตอบ  พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ได้สอบถามในประเด็นต่างๆ ดังนี้

                      1. การจัดทำความตกลงบ้านพี่เมืองน้องมีประโยชน์อย่างยิ่ง มีหลายเมืองในจีนสนใจจะมีความตกลงฯ กับจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่มีความคืบหน้า เพราะเรื่องไปติดอยู่ที่กระทรวงฯ

                      2. เชียงใหม่มีหลายอำเภอติดอยู่กับเมียนมาร์ เห็นว่ามีหลายจุดที่เหมาะสมที่จะเปิดจุดผ่านแดน ดังนั้น ขอให้พิจารณาเปิดเป็นด่านเพื่อทำการค้าได้หรือไม่

                      3. เชียงใหม่มีกงสุลกิตติมศักดิ์ 12 แห่ง และกงสุลอาชีพ 4 แห่ง ขณะนี้ สำนักงานหนังสือเดินทางเชียงใหม่ไม่มีหัวหน้าสำนักงาน (หัวหน้าสำนักงานฯ เชียงรายดูแลเชียงใหม่ด้วย) เชียงใหม่ไม่มีความถนัดเรื่องต่างประเทศอยากได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากกระทรวงฯ

                      รองอธิบดีกรมอาเซียน ชี้แจงข้อซักถามดังนี้

                      1. โดยหลักการแล้วทุกรัฐบาลและกระทรวงฯ สนับสนุนการเสริมสร้างความสัมพันธ์ลักษณะบ้านพี่เมืองน้อง เพราะเป็นเครื่องแสดงว่าการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้หยั่งรากลงไปถึงระดับท้องถิ่นและประชาชน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ทุกจังหวัดต้องการทำความตกลงบ้านพี่เมืองน้องกับหลายเมืองในต่างประเทศ บางครั้งทำความตกลงฯ แล้วไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตามความตกลง ซึ่งกระทรวงฯ ก็ไม่ทราบเรื่อง เพราะเป็นการติดต่อในระดับท้องถิ่น    แต่บ่อยครั้งเป็นฝ่ายถูกทวงถามความคืบหน้า ดังนั้น ประเด็นที่อาจต้องพิจารณาคือ หากมีความตกลงลักษณะนี้มากเกินไป และไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ ระหว่างกันก็จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งก็คงต้องดูเป็นรายจังหวัดตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดี เรื่องความตกลงบ้านพี่เมืองน้องกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของเรื่อง ไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศ

                      2. กระทรวงฯ ส่งเสริมการไปมาหาสู่กัน และการค้าชายแดน แต่การเปิดด่านมีข้อพิจารณาหลายด้าน โดยเฉพาะด้านความมั่นคง โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลัก

                      3. กระทรวงฯ มีข้าราชการสายการทูตประมาณ 800 คน ประมาณครึ่งหนึ่งประจำการในต่างประเทศ โดยที่มีสำนักงานอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในต่างประเทศและภายในประเทศ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่อัตรากำลังเพิ่มขึ้นไม่ทันกับภารกิจ จึงต้องอาศัยลูกจ้างสนับสนุนการดำเนินงานเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงการทำงานของสำนักงานหนังสือเดินทางในภูมิภาค ซึ่งก็มีจำนวนมากขึ้น หน้าที่หลักของสำนักงานหนังสือเดินทางก็คือให้บริการประชาชนในการทำหนังสือเดินทาง   งานด้านรับรองเอกสาร แต่กระทรวงฯ ก็คาดหวังให้หัวหน้าสำนักงานสนับสนุนงานด้านต่างประเทศ ของจังหวัดด้วยเท่าที่จะทำได้

--------------------------------

                         กองสังคมและวัฒนธรรม

กรมอาเซียน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ