วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ย. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน – จีน นายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ โดยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำประเทศอาเซียนร่วมหารือ เพื่อตอกย้ำการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ และสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค สาระสำคัญดังนี้
1. นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีต้อนรับการให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนของประธานาธิบดีโอบามา และโอกาสที่จะได้ดำเนินการร่วมกันเพื่อหุ้นส่วนอาเซียน – สหรัฐฯ จะเป็นเสาหลักหนึ่งเพื่อความมั่นคงและความมั่งคั่งในภูมิภาคและต่อไปถึงภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ การเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ในอาเซียนไม่เป็นเพียงเพื่อความสนใจร่วมกัน แต่ยังหมายถึงประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค การปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวมีความสำคัญเพราะเป็นปัจจัยของความมั่นคงและส่งเสริมการเติบโต เพราะเป็นลักษณะที่สมดุลย์และหลากมิติ ปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ได้รับการชื่นชม เพาะช่วยส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการจัดการระดับภูมิภาค และแสวงหาการวางกรอบดำเนินการเพื่อความร่วมมือภูมิภาค บนพื้นฐานการไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพ และผลประโยชน์ร่วมกัน
2. ด้านเศรษฐกิจ อาเซียนและสหรัฐฯ จำเป็นต้องพัฒนาความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ให้กว้างขึ้นในประเด็นทางยุทธศาสตร์ในรูปแบบที่สมดุลย์และยั่งยืน ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคเอกชนมีความสำคัญมากขึ้น ไทยสนับสนุนความตั้งใจของสหรัฐฯ ในการแก้ปัญหาทางการเงินการคลัง และสนับสนุนความต่อเนื่องของนโยบายที่จะกระตุ้นการเติบโต ด้วยการส่งเสริมการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องกับอาเซียน สินค้าสหรัฐฯ เงินทุน เทคโนโลยี และผู้ประกอบการยังคงสำคัญต่อการเติบโตของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างงานในสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน การเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจที่กว้างขึ้นเป็นกุญแจของการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน ดังนั้น อาเซียนจึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและทางการสหรัฐฯ ในวาระการเชื่อมโยงอาเซียน และการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ควรเร่งเดินหน้าเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงภูมิภาค ในการนี้ อาเซียนจึงสนับสนุนข้อริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ – อาเซียนที่กว้างขึ้น รวมทั้ง ไทยจะเริ่มการเจรจา TPP ( Trans Pacific Partnership ) เพราะเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางการค้าข้ามแปซิฟิก
3. ด้านการเมือง ความร่วมมือเพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและการข้ามแดน ตั้งแต่การก่อการร้าย จนถึงภัยภิบัติธรรมชาติ ยังคงสำคัญต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ดังนั้น จึงต้องเสริมสร้างความร่วมมือด้านประเด็นทางทะเลที่เป็นข้อห่วงใยร่วมกัน รวมทั้ง ความปลอดภัยของการเดินทะเล และการป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธทำลายล้างสูง วัสดุและเทคโนโลยี นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้หยิบยกประเด็นความเร่งด่วนของความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในการบริหารจัดการภัยภิบัติ ซึ่งเทคโนโลยีการเตือนภัยของสหรัฐฯ สามารถเสริมสร้างให้อาเซียนมีความสามารถในการรับมือกับภัยภิบัติทางธรรมชาติ การฝึกร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน และการสร้างการเชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมเพื่อบรรเทาภัยภิบัติในอาเซียน ARF และ EAS นับเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
4. ในเรื่องความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ ต้องเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งการค้ามนุษย์ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้แสดงความสนับสนุนการต่อต้านการลักลอบการค้าสัตว์ป่าของสหรัฐฯ ด้วย
โดยสรุปแล้ว อนาคตของความเป็นหุ้นส่วนอาเซียน – สหรัฐฯ มีโอกาสมหาศาลที่รออยู่ และดำเนินมาถูกทางแล้ว แต่ยังสามารถเกิดผลได้อีกมาก
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)