การประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

การประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 พ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 831 view

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ในช่วงบ่าย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 15 ซึ่งเป็นการประชุมแบบเต็มคณะระหว่างผู้นำอาเซียน 10 ประเทศกับจีน โดยในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้เชิญนายกรัฐมนตรีของไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน กล่าวต่อที่ประชุม โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียน – จีน และมิตรภาพที่ใกล้ชิด ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อความมั่งคั่ง สันติภาพ และความมั่นคง ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์กรอบความร่วมมืออาเซียน – จีน จะทุ่มเทเพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์และมิตรภาพ บนพื้นฐานประโยชน์และการไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ความเป็นเอกภาพของอาเซียนอยู่ในความสนใจของจีน และประโยชน์ต่อสันติภาพและความมั่นคง ดังนั้น อาเซียนและจีนต้องคงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งต้องสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ยั่งยืน โดยเฉพาะท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของโลก นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ ยังต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันเพื่อการเติบโตและการจ้างงานร่วมกัน จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อความไว้เนื้อเชื่อใจกันเพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุน

ในการนี้ จึงต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของอาเซียนและจีน ขณะที่เสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการยาเสพติด การค้ามนุษย์ การค้าอาวุธ การฟอกเงิน และอาชญากรรมไซเบอร์

2. ประเทศไทยเชื่อในผลประโยชน์ร่วมกันและความรับผิดชอบต่อการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล เพราะความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงทางทะเล จึงควรมีการใช้ประโยชน์จากกองทุนความร่วมมือทางทะเลที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรีจีนปีที่ผ่านมา

ทะเลจีนใต้ได้เชื่อมประเทศต่างๆ ในภูมิภาคไว้ด้วยกันเพื่อความมั่งคั่งร่วมกัน ไทยจึงเชื่อว่าทะเลจีนใต้สามารถเชื่อมอาเซียนและจีนไว้เพื่อความร่วมมือและประโชน์ร่วมกัน ดังนั้น ไทยจึงสนับสนุนแถลงการณ์ร่วมในโอกาสครบรอบ 10 ปีของแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DoC)  อาเซียนและจีนจำเป็นต้องส่งเสริมการดำเนินการตามกรอบ DoC เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของมิตรภาพและความร่วมมือ รวมทั้งการสร้างประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ ขณะที่ดำเนินการตามกรอบ DoC ต้องรักษา momentum การเจรจาตามกรอบระเบียบปฏิบัติ CoC ร่วมกันไปด้วย

3. ด้วยความมั่นคงในภูมิภาค สามารถทำให้บบรลุเป้าหมายการค้าจำนวน 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการลงทุนใหม่ของจีนจำนวน 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2558  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ต้องเร่งลดอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับรัฐบาล เอกชน และประชาชนกับประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เขตการค้าเสรี อาเซียน – จีน เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ หวังว่าจีนจะช่วยสนับสนุนการนำเข้าผลิตผลการเกษตรอาเซียน และพัฒนาไปสู่การส่งเสริมการค้าเสรีในเอเชียตะวันออกผ่านกลไก RCEP

4. ไทยต้อนรับการสนับสนุนของจีนในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงภูมิภาค รวมทั้ง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมที่แข็งขันเพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงคมนาคมระหว่างทะเลจีนใต้และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาเซียนขอบคุณข้อริเริ่มของนายกรัฐมนตรีเวิน เจีย เป่า ในการให้เครดิตจำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเพิ่มกองทุนเพื่อการลงทุน ำหรับการพัฒนาสาธารณูปโภค และลดช่องว่างการพัฒนา ในส่วนของอาเซียน ได้มีการพัฒนาการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมอาเซียนกับจีน พร้อมทั้งยินดีต้อนรับความร่วมมือจากจีนด้วย

สุดท้าย นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมบทบาทของนายเวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีจีน ในการมีบทบาทที่สำคัญต่อการสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน พร้อมยืนยันว่าประเทศไทยจะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและหวังว่ามิตรภาพระหว่างจีนและอาเซียนจะยั่งยืนตลอดไป