วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ย. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๒๓ โดยร่วมสนับสนุนให้อาเซียนบวกสามเป็นกลไกความร่วมมือพหุภาคีในระดับภูมิภาคที่มีผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน พร้อมผลักดันความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างความเชื่อมโยง รวมถึงส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๒๓ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายกรัฐมนตรีเวียดนามเป็นประธาน และผู้นำอาเซียน และผู้นำของประเทศบวกสาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วม
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมเน้นย้ำความร่วมมือที่มีผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในยุคที่โลกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-๑๙ และความท้าทายในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ในด้านความมั่นคงด้านสาธารณสุขที่ยั่งยืน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้เห็นความคืบหน้าของความร่วมมือ รวมถึงการสนับสนุนของประเทศบวกสามต่อกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ จึงหวังให้มีการใช้ประโยชน์จากกองทุนฯ อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจัดหาและจัดสรรอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนและยาที่ทุกประเทศสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต และยินดีต่อข้อเสนอของจีนในการจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนบวกสามสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมถึงได้เสนอให้ใช้ประโยชน์จากศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนร่วมกับกลไกเหล่านี้ด้วย
ในด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ควรเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้โดยเร็ว และมีรากฐานที่แข็งแกร่ง นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวสนับสนุนการบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และเชิญชวนประเทศบวกสามให้ร่วมสนับสนุนกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนที่เพิ่งประกาศไปในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ทบทวนและพัฒนากลไกความร่วมมือที่มีอยู่แล้วให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น และเห็นว่า ควรเร่งต่อยอดกลไกมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีผ่านการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิทัล นายกรัฐมนตรียังเห็นควรให้ใช้ประโยชน์จากองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม และสนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ให้แก่ MSMEs และ Start-ups เพื่อให้สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-๑๙ และพร้อมรับมือกับความท้าทายในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกรัฐมนตรียังได้เสนอให้สานต่อการเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ โดยการต่อยอดการดำเนินการตามถ้อยแถลงฯ ว่าด้วยข้อริเริ่มการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในเรื่องนี้ต่อไป และเห็นว่าความร่วมมือในด้านความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคโดยรวม รวมถึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำเจตนารมณ์ในการส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี โดยไทยพร้อมสนับสนุนกระบวนการแก้ปัญหาอย่างสันติ และหวังที่จะเห็นการเจรจามีความคืบหน้า พร้อมกับคาบสมุทรเกาหลีที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
อนึ่ง ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๒๓ ได้รับรองถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนบวกสามเพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ (APT Leaders’ Statement on Strengthening APT Cooperation for Economic and Financial Resilience in Face of Emerging Challenges)
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)