ธนาคารโลกสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยเพื่อผลักดันเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

ธนาคารโลกสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยเพื่อผลักดันเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ก.พ. 2564

| 1,473 view

 

ธนาคารโลกสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยเพื่อผลักดันเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

 

         

          เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๒ ดร. Victoria Kwakwa รองประธานธนาคารโลกสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เข้าเยี่ยมคารวะนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และได้หารือในช่วงอาหารกลางวัน (working lunch) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพ ณ ห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งสัญญาณว่า ธนาคารโลกสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสองฝ่ายได้หารือในเรื่องความร่วมมือหลายประเด็น ได้แก่


          ๑. ธนาคารโลกและประเทศไทยได้ตกลงกันที่จะมีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมหลายเรื่อง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการและภาวะแคระแกร็น (Malnutrition and Stunting) ภายใต้ข้อริเริ่มความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ (Complementarities Initiative) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มที่ไทยผลักดันในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับว่า เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของอาเซียน


          ๒. โดยที่ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงความสำคัญของการพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศไทยและธนาคารโลกจะร่วมกันจัดการประชุม ASEAN High-Level Meeting on Human Capital Development ในเดือนเมษายน ๒๕๖๒ ที่กรุงเทพฯ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เคยเสนอในที่ประชุมผู้นำอาเซียนกับองค์การระหว่างประเทศที่บาหลี เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ (4IR)


           ๓. ธนาคารโลกสนับสนุนข้อริเริ่มของไทยในเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมิติของยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างกรอบความเชื่อมโยง (Connecting the Connectivities) กล่าวคือ การเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ของอาเซียนกับยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงอื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อให้เกิดทั้ง Seamless ASEAN และ Seamless Region


          ๔. นอกจากนี้ ธนาคารโลกได้ชื่นชมบทบาทไทยในการขับเคลื่อนความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค โดยเฉพาะข้อริเริ่ม ACMECS และพร้อมที่จะพิจารณาความร่วมมือกับไทยในกรอบ ACMECS ต่อไป

 

 

ติดตามข่าวสารข้อมูล :

 ASEAN2019TH                                           ASEAN2019TH

 ASEAN2019TH                                          ASEAN2019TH

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ