วันที่นำเข้าข้อมูล 12 มิ.ย. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการสัมมนา Symposium on “Fostering Regional Connectivity in the Indo-Pacific Region: Connecting the Connectivities” โดยมีผู้เข้าร่วมจากประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้เชี่ยวชาญจาก World Bank Asian Development Bank และ Asian Infrastructure Investment Bank และผู้สังเกตการณ์จากกลุ่มประเทศ EAS (East Asia Summit) ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเรื่องการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค สรุปประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ความเชื่อมโยงเป็นกลไกสร้างความก้าวหน้าและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคม ความเชื่อมโยงแบ่งเป็นหลายระดับ คือ (1) ความเชื่อมโยงทางการขนส่ง (ทางรถ ราง เรือ อากาศ) (2) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจต่างๆ (ห่วงโซ่มูลค่า ดิจิตัล การอำนวยความสะดวกข้ามแดน) (3) ความเชื่อมโยงที่ยั่งยืน (เมืองสีเขียว เมืองอัจฉริยะ การบริหารจัดการชายแดน)
2. ความเชื่อมโยงควรมุ่งเป้ามากกว่าความเชื่อมโยงทางกายภาพ คือ ไม่เพียงเชื่อมจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง แต่รวมถึงการเชื่อมจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง และมองไปไกลกว่าเฉพาะอาเซียน (beyond ASEAN) เช่น เชื่อมโยงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเอเชียใต้ หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเอเชียตะวันออก เชื่อมให้กรอบต่างๆ ในอนุภูมิภาคสอดประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเรียกว่า Connectivity Plus Plus และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
3. อินโด-แปซิฟิกเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ สามารถผนึกกำลังรวมกันได้ (synergy) โดยเริ่มจากประเด็นที่ต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน คือ เรื่องความเชื่อมโยง โดยอาเซียนควรเป็นสะพานและตัวเร่ง (bridge and catalyst) ของการสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่อาจเริ่มจากความเชื่อมโยงทางการขนส่งไปสู่ความเชื่อมโยงอย่างยั่งยืนในที่สุด
4. ความเชื่อมโยงควรเป็นแนวคิดที่เป็นเอกภาพ สอดประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกื้อหนุนกัน เชื่อมกันอย่างมียุทธศาสตร์ มีโครงการร่วมกันที่หนุนเสริมกัน และมีความร่วมมือทางการเงินให้กันและกันที่ทุกประเทศในภูมิภาคได้ประโยชน์ โดยเริ่มมองจากอาเซียนไปสู่ประชาคมเอเชียตะวันออก (EAEc) และอินโด-แปซิฟิก โดยสุดท้ายมุ่งเป้าให้ทุกคนในทุกพื้นที่มีพลวัตรการเติบโตและมีความยั่งยืน
ในอนาคตควรทำการศึกษากรอบความเชื่อมโยงต่างๆ ว่ามีความสอดคล้องกันอย่างไร จะทำอย่างไรให้สอดประสานกัน และทำโครงการร่วมกันได้ นอกจากนี้ ควรมีเวทีหารือด้านนโยบายเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกรอบต่าง ๆ (Connecting the Connectivities) อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
อนึ่ง มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากฝ่ายไทยมีประมาณ 70 คนประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงต่างๆ นักวิชาการ และผู้แทนภาคเอกชน และผู้แทนจากต่างประเทศประมาณ 30 คน โดยที่ประชุมให้ความสนใจและอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางเนื่องจากเป็นเรื่องที่ไทยและอาเซียนน่าจะได้ประโยชน์
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)