ผลการประชุม High Level Regional Conference on Enhancing Cooperation on Border Management in the ASEAN Region: Ensuring a More Interconnected, Safe and Secure ASEAN Community

ผลการประชุม High Level Regional Conference on Enhancing Cooperation on Border Management in the ASEAN Region: Ensuring a More Interconnected, Safe and Secure ASEAN Community

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,526 view
          เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๐ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime – UNODC) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม High Level Regional Conference on Enhancing Cooperation on Border Management in the ASEAN Region: Ensuring a More Interconnected, Safe and Secure ASEAN Community ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
          การประชุมดังกล่าวมีผู้แทนเข้าร่วมจำนวน ๒๐ ประเทศ โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมเกือบทั้งหมด (ยกเว้นสิงคโปร์และบรูไนดารุสซาลาม) และประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ปากีสถาน แคนาดา สหภาพยุโรป รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly – AIPA)  องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO) องค์การตำรวจสากล (Interpol) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – UNESCAP) องค์การเพื่อการส่งเสริม
ความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และธนาคารโลก (World Bank) 
          ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางความเป็นเลิศเกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่ายความเชื่อมโยงในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคเอเชีย แนวทางการรับความท้าทายที่สืบเนื่องจากความเชื่อมโยงและการเคลื่อนย้ายของสินค้า บริการ และบุคคลที่มีความเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยเฉพาะความท้าทายรูปแบบใหม่ อาทิ การลักลอบขนยาเสพติดและสารตั้งต้น การค้ามนุษย์ การขนคนข้ามชาติ การก่อการร้าย เป็นต้น ที่ประชุมเห็นว่าการบริหารจัดการชายแดนที่ดีสามารถพัฒนาควบคู่ไปการพัฒนาเครือข่ายความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและกับประเทศนอกภูมิภาค อันจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การเติบโตของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง พร้อมย้ำถึงการดำเนินการที่ประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม รับรู้ รับทราบ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา โดยสะท้อนผ่านผู้แทนราษฎรและกลไกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสื่อมวลชน รวมทั้งนักวิชาการสามารถเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ร่วมกันในเรื่องนี้ได้
          ทั้งนี้ การดำเนินการให้เกิดผลดังกล่าวต้องอาศัยเจตจำนงร่วมทางการเมือง ทั้งในระดับผู้นำและระดับประเทศ ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องร่วมแรงร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการจัดการความท้าทายโดยยึดหลักนิติธรรม ภายใต้คำขวัญ “One Vision, One Community and One Identity” เสริมสร้างความร่วมมือ การประสานงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทันเวลา โดยรื้อฟื้นและผลักดันการดำเนินงานข้างต้นผ่านกลไกในระดับภูมิภาคที่มีอยู่
          นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ไทยนำเสนอผลการประชุมให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ ๑๗ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว รับทราบ และผลักดันให้การบริหารจัดการชายแดนมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ