การประชุม ASEAN-China Senior Official’s Consultations (ACSOC) ครั้งที่ 22

การประชุม ASEAN-China Senior Official’s Consultations (ACSOC) ครั้งที่ 22

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 มิ.ย. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 2,557 view

การประชุม ASEAN-China  Senior  Official’s Consultations (ACSOC)  ครั้งที่  22

 

            เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 นายจักรกฤษณ์ ศรีวลี อธิบดีกรมอาเซียนเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม ASEAN-China Senior Official’s Consultations (ACSOC) ครั้งที่ 22 ณ สิงคโปร์

 

            ที่ประชุมได้ติดตามผลการดำเนินการตามมติที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจีนครั้งที่ 18 ซึ่งจีนให้ความสำคัญกับการดำเนินการกรอบความร่วมมือ  2+7 ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2556  โดยจีนขอให้เร่งการดำเนินการในด้านต่าง ๆ  ได้แก่ 1) การจัดทำ ASEAN-China Treaty on Good Neighborliness, Friendship and Cooperation 2) การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามที่พิธีสารยกระดับ ASEAN-China Free Trade Area (ACFTA) กำลังจะมีผลบังคับใช้ และการเจรจาความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระหว่างกันที่จำนวนหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการลงทุน 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2020 3) การใช้ประโยชน์จาก Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) เพื่อปฏิบัติตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity – MPAC) 4) การส่งเสริมและรักษาความมั่นคงในภูมิภาค โดยมีการจัดตั้งสายด่วนระหว่างกระทรวงกลาโหมอาเซียน-จีน และการแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยจีนจะจัดตั้งวิทยาลัยการบังคับใช้กฎหมายการจัดการภัยพิบัติ เพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน 5) การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน โดยให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเซียน-จีน และ 6) การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยจีนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้ความช่วยเหลือในการควบคุมโรคติดต่อร้ายแรง

 

            ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน-จีน โดยไทยเห็นว่า ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนมีความใกล้ชิดและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอันดีและมีผลประโยชน์ร่วมกัน และควรส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เช่น การบรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน  อย่างไรก็ตาม ความท้าทายหลักที่อาเซียนและจีนต้องร่วมมือกันคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งจีนยืนยันที่จะสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN  Centrality) ในการจัดการสิ่งท้าทายต่าง ๆ ในภูมิภาค