การประชุมกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 2

การประชุมกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 2

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 เม.ย. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,740 view

การประชุมกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 2

 

            เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2559 นายนรชิต สิงหเสนี ผู้แทนไทยในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน – รัสเซีย (ASEAN-Russia Eminent Persons Group - AREPG) เข้าร่วมการประชุมกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 2 ณ
เมืองเสียมราฐ กัมพูชา พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมอาเซียน

 

            ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาร่างรายงานข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียน-รัสเซีย โดยเห็นพ้องให้ยึดมั่นตามหลักการที่เป็นที่ยอมรับสากล ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ ตราสารและหลักการของอาเซียนที่สำคัญ ได้แก่ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) หลักการบาหลี และความเป็นแกนกลางของอาเซียน ตลอดจนสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียน โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือการดำเนินการร่วมกันเพื่อเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในอนาคต รวมทั้งใช้ประโยชน์จากความร่วมมือที่ใกล้ชิดในหลายมิติและเชื่อมโยงกับองค์กรระดับภูมิภาคอื่น ๆ อาทิ องค์การ
ความร่วมมือเซี่ยงไฮ้และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย

 

            ในด้านการเมืองและความมั่นคง   ที่ประชุมเน้นการเพิ่มช่องทางและสนับสนุนประเด็น ความร่วมมือที่สำคัญระหว่าง
อาเซียน-รัสเซีย เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และความร่วมมือด้านกลาโหมภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา เป็นต้น

 

            ในด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะเสนอให้ตั้งเป้าหมายมูลค่าทางการค้าสองฝ่าย เป็น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2025 และให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย รวมทั้งการเข้าร่วมความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาคของรัสเซีย และการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียน-รัสเซีย (ASEAN-Russia Panel) เพื่อพัฒนากลยุทธ์ความร่วมมือด้านพลังงานและความมั่นคงทางอาหารตามข้อเสนอของไทย

 

            ในด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่ประชุมเห็นพ้องให้สนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัย
อาเซียน (AUN) เครือข่ายสถาบันศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติระหว่างประเทศของอาเซียน (ASEAN Institute of Strategic and International Studies - ISIS) และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของรัสเซีย รวมทั้งส่งเสริมการฝึกอบรมด้านอาชีวะของทั้งสองฝ่าย นอกจากนั้น เห็นควรให้ส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย