วันที่นำเข้าข้อมูล 29 มี.ค. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการพัฒนาแผนงานร่วมในการตอบโต้ภัยพิบัติของอาเซียน
(Regional Workshop on the Development of ASEAN Joint Disaster Responses Plan – AJDRP)
เมื่อวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2559 ศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ หรือศูนย์อาฮา และหน่วยงานรับผิดชอบด้านภัยพิบัติของอินโดนีเซีย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการพัฒนาแผนงานร่วมในการตอบโต้ภัยพิบัติของอาเซียน (Regional Workshop on the Development of ASEAN Joint Disaster Responses Plan - AJDRP) ณ กรุงจาการ์ตา โดยมีผู้แทนด้านการจัดการภัยพิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วม รวมทั้งคณะผู้แทนไทยประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ
การประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำแผนงานร่วมในการตอบโต้ภัยพิบัติของอาเซียนและร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยอาเซียนร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้ภัยพิบัติ (Draft ASEAN Declaration on One ASEAN One Response) ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28 ในเดือนกันยายน 2559 ณ เวียงจันทน์ รับรอง
การประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกอาเซียนในการจัดการภัยพิบัติ เสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ One ASEAN, One Response ซึ่งมีแนวคิดหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ความรวดเร็ว (speed) ในการเคลื่อนย้ายบุคลากรและทรัพยากรไปยังสถานที่เกิดภัยพิบัติ 2) ขนาด/ ปริมาณ (scale) ของทรัพยากรที่จำเป็นต่อการตอบโต้ภัยพิบัติ และ 3)ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (solidarity) โดยเน้นการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อจำแนกความต้องการและความสามารถในการจัดหาทรัพยากรในยามเกิดภัยพิบัติ และเสริมสร้างความร่วมมือและบูรณาการกลไกต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตอบโต้ภัยพิบัติในภูมิภาค
ที่ประชุมฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกต่าง ๆ ในภูมิภาคที่สนับสนุนวิสัยทัศน์ One ASEAN, One Response ดังนี้
ที่ประชุมฯ ร่วมกันระบุความต้องการด้านมนุษยธรรมในการรับมือกับภัยพิบัติ 10 ด้าน ได้แก่ 1) การปฏิบัติ
การด้านมนุษยธรรม 2) การลดความสูญเสียทั้งในทางชีวิตและทรัพย์สิน 3)ระบบสาธารณูปโภคและการฟื้นฟูในระยะแรก
4)ระบบการขนส่งและลำเลียงความช่วยเหลือ 5) สิ่งของบรรเทาทุกข์ 6) การบริการทางสุขภาพและยา 7) น้ำและสุขอนามัย
8) ความคุ้มครองสำหรับกลุ่มเปราะบาง 9) การประสานงานและบริหารค่ายผู้พักพิง และ
10) การเตรียมความพร้อมก่อนการเกิดภัยพิบัติ
ที่ประชุมฯ เห็นพ้องถึงบทบาทสำคัญและความสามารถของหน่วยงานที่มิใช่รัฐ โดยเฉพาะภาคประชาสังคมและ
ภาคเอกชนในการระดมและจัดสรรทรัพยากร เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ เมื่อเกิดภัยพิบัติ และสนับสนุนให้
ศูนย์อาฮาเป็นกลไกประสานงานหลักเพื่อรับมือภัยพิบัติในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)