ผลการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ

ผลการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 4,359 view

ผลการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ

 

                    เมื่อวันที่ ๑๕-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ที่ Sunnylands เมือง Rancho Mirage มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
                    การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการพบกันครั้งแรกระหว่างผู้นำอาเซียนกับสหรัฐฯ ภายหลังการจัดตั้งประชาคมอาเซียนและการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ โดยในการเตรียมการจัดการประชุมฯ
ฝ่ายสหรัฐฯ ย้ำมาโดยตลอดว่าต้องการให้ผู้นำแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง จึงเลือก Sunnylands ในเมือง Rancho Mirage ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติเป็นสถานที่จัดการประชุมฯ โดยจัดการหารือ
ในลักษณะ Retreat ๒ ช่วงและการหารือระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำ

                    ข้อริเริ่มของฝ่ายสหรัฐฯ ที่จัดการประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับบทบาทของอาเซียนเพื่อตอบสนองนโยบาย “Rebalancing” ซึ่งสหรัฐฯ ประสงค์จะกลับเข้ามามีบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค
และต้องการแสดงให้เห็นว่าอาเซียนและสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดระหว่างกัน ทั้งนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ย้ำว่าจะสานต่อนโยบาย “Rebalancing” ต่อไปถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาล

 

ประเด็นสำคัญของการประชุมฯ

 

ด้านเศรษฐกิจ


                    นายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมของไทยในฐานะพันธมิตรที่ใกล้ชิดและยาวนานของสหรัฐฯ
ที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ และสหรัฐฯ เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและครอบคลุม
ทุกมิติ และย้ำให้สหรัฐฯ สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของไทยและอาเซียนต่อไป โดยเน้นเรื่องความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ก้าวไปพร้อมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการเสริมสร้างศักยภาพ
ของผู้ประกอบการและประชาชนผ่านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิตอล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์
                   ประธานาธิบดีโอบามาได้ประกาศจัดตั้ง U.S. – ASEAN Connect ซึ่งเป็นข้อริเริ่มใหม่ของสหรัฐฯ
ที่สานต่อกิจกรรมและโครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ด้านเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว โดยแบ่งได้เป็นสี่เสาหลัก
ได้แก่ (1) Business Connect (2) Energy Connect (3) Innovation Connect และ (4) Policy Connect
โดยจะจัดตั้ง Connect Centers เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามข้อริเริ่มใหม่นี้ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ กรุงจาการ์ตา สิงคโปร์ และกรุงเทพฯ
                    นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโอบามาได้เชิญ CEO ของบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ได้แก่ IBM Microsoft
และ CISCO Systems เข้าร่วมการหารือด้วย ซึ่ง CEO เหล่านี้เห็นว่า อาเซียนมีศักยภาพที่จะเจริญเติบโตได้
อย่างก้าวกระโดด และเสนอตัวที่จะสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป
ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่

 

ด้านความมั่นคงและประเด็นท้าทายข้ามชาติ


                    ผู้นำได้แลกเปลี่ยนทรรศนะในเรื่องทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี การรักษาความมั่นคงทางทะเล
การต่อต้านการก่อการร้าย และการรับมือกับประเด็นท้าทายข้ามชาติต่างๆ โดยประเด็นที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ
คือ ท่าทีไทยต่อสถานการณ์ในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี  ความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับนานาประเทศ
ในการต่อต้านการก่อการร้ายและลัทธินิยมความรุนแรง และความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
การประมง IUU และการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ รวมทั้งบทบาทนำของไทยในเรื่องสาธารณสุขโลก

                    ทะเลจีนใต้เป็นประเด็นที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น โดยต้องการเห็นอาเซียนพูดเป็นเสียงเดียวกันและมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหา และเน้นย้ำความสำคัญของการบริหารจัดการปัญหาบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ รวมทั้งเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่าน

 

เอกสารผลลัพธ์การประชุม


                    ที่ประชุมได้ออกแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) เรียกว่า “ปฏิญญาซันนีแลนด์” (Sunnylands Declaration) เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ ซึ่งย้ำหลักการพื้นฐานในการดำเนินความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งรวมถึงหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติ กฎบัตรอาเซียน และกฎหมายระหว่างประเทศ

 

ภารกิจอื่นๆ ของนายกรัฐมนตรี


                   นอกจากการเข้าร่วมการประชุมฯ แล้ว นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการอื่นๆ ได้แก่ การพบหารือทวิภาคีกับนายเหวียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งผู้นำทั้งสองเห็นชอบที่จะร่วมมืออย่างสร้างสรรค์
เพื่อเร่งขจัดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวขอบคุณที่ไทยให้ความช่วยเหลือและขยายระยะเวลาการจดทะเบียนแรงงานเวียดนามในไทย
                    นายกรัฐมนตรียังได้พบปะกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ไทย ผู้แทนสมาคมวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ
และแคนาดา และกลุ่มนักวิชาชีพไทยสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในสหรัฐฯ โดยนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่า รัฐบาล
มีเป้าหมายชัดเจนที่จะใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ไทย
หลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง โดยมีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมในรูปแบบ Cluster และ
ใช้แนวทางประชารัฐเพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในการพัฒนาประเทศด้วย

 

*********************************************

 

 

กองเศรษฐกิจ กรมอาเซียน

๑๙ กุมภาพันธ์ 2559

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ