วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ต.ค. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
การประชุม ASEAN Maritime Forum ครั้งที่ 6 และ Expanded ASEAN Maritime Forum ครั้งที่ 4
เมื่อวันที่ 9 -10 กันยายน 2558 นายสุริยา จินดาวงษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุม ASEAN Maritime Forum (AMF) ครั้งที่ 6 และ Expanded ASEAN Maritime Forum (EAMF) ครั้งที่ 4 ณ เมืองมานาโด ประเทศอินโดนีเซีย
ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้และเห็นพ้องว่า ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันรักษาทะเลจีนใต้ให้เป็นพื้นที่ที่สันติ ปลอดภัย และมีเสถียรภาพ โดยไทยเน้นย้ำความสำคัญของการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในการจัดการกับปัญหาทะเลจีนใต้ โดยควรเร่งนำมาตรการเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นระหว่างกัน (Confidence Building Measures – CBMs) มาปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ทันที (Early Harvest Measures)
ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated (IUU) Fishing) โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับมิติความมั่นคงของปัญหา IUU รวมทั้งความจำเป็นที่ต้องมีกลไกทางกฎหมายในระดับภูมิภาคเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ไทยได้แจ้งที่ประชุมฯ เกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาในส่วนของไทย ได้แก่ การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 การจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และการดำเนินมาตรการควบคุมและการเฝ้าระวังการทำประมงผ่านปฏิบัติการควบคุมการแจ้งเข้า-ออก (Port-in, Port-out – PIPO) และระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System – VMS) เป็นต้น
ที่ประชุมฯ ได้แสดงความห่วงกังวลที่อัตราการก่อเหตุโจรสลัดและการปล้นเรือในบริเวณทะเลจีนใต้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งควรมีการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งการจับกุมและการติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี และการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในรัฐชายฝั่ง ที่ถูกความยากจนผลักดันให้หันมาก่อเหตุปล้นเรือ โดยให้ใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือที่มีอยู่แล้วในภูมิภาค เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในกรอบ Regional Cooperation Agreement on Combatting Piracy and Armed Robbery against Ships in Asia Information Sharing Centre (ReCAAP ISC)
ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ AMF และ EAMF โดยเห็นพ้องว่า AMF ควรเป็นเวทีหารือเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงทางทะเล โดยไทยเสนอให้มีการระดมสมองและแลกเปลี่ยนความเห็น และการจัดกิจกรรมระหว่างปีมากขึ้น นอกจากนั้น ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ ในการทำให้ EAMF มีทิศทางการหารือที่สอดคล้องกับ AMF เช่น การยกระดับการประชุม EAMF จากการประชุมแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งมีผู้แทนจากภาควิชาการ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม (Track 1.5) เป็นการประชุมแบบทางการที่มีเฉพาะผู้แทนรัฐบาลเข้าร่วม (Track 1 ) เป็นต้น ซึ่งประเทศต่าง ๆ จะได้หารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อไป
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)