การประชุม ASEAN-Pacific Alliance ครั้งที่ 2

การประชุม ASEAN-Pacific Alliance ครั้งที่ 2

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ต.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 3,485 view

การประชุม  ASEAN-Pacific Alliance ครั้งที่ 2

            เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม ASEAN-Pacific Alliance (PA) Ministerial Meeting ครั้งที่ 2 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

            ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการความร่วมมือในกรอบอาเซียนและ PA โดยมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับความคืบหน้าในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยขณะนี้อาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำวิสัยทัศน์ภายหลังปี 2558 รวมทั้งแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยง (Connectivity) ฉบับใหม่ เพื่อเป็นกรอบการทำงานในช่วง 10 ปีข้างหน้า ในขณะที่เปรูได้กล่าวถึงพัฒนาการของ PA โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าสินค้าและบริการ การเคลื่อนย้ายเงินทุน  ความร่วมมือด้าน ICT การตรวจลงตรา และการอำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจและนักท่องเที่ยว การจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ การวางระบบการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยเพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร การรวมตัวของตลาดทุน และการโยกย้ายถิ่นฐานในภูมิภาค ทั้งนี้ ที่ประชุมสุดยอด PA ครั้งที่ผ่านมาได้พิจารณารับไทยและอินโดนีเซียเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ของ PA ด้วย

            ที่ประชุมฯ รับทราบการกำหนดสาขาความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับ PA ในการประชุมหารือระหว่าง คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (Committee of Permanent Representatives to ASEAN–CPR) กับเอกอัครราชทูตของประเทศในกลุ่ม PA ประจำกรุงจาร์กาตา โดยที่ประชุมฯ เห็นควรให้เน้นความร่วมมือด้านการส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว SME การศึกษา การติดต่อระหว่างประชาชน และกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล ทั้งนี้ ไทยเสนอให้ใช้เซปักตะกร้อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านกีฬา และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน เนื่องจากเซปักตะกร้อเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยทักษะที่คล้ายคลึงกับฟุตบอล ซึ่งเป็นที่นิยมในลาตินอเมริกา

            Pacific Alliance ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2554 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ โคลอมเบีย เม็กซิโก เปรู และชิลี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในลาตินอเมริกา ปัจจุบัน มีประเทศผู้สังเกตการณ์ 30 ประเทศ รวมทั้งไทย ทั้งนี้ ไทยจะเป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียน กับ PA ในปี 2559 ต่อจากสิงคโปร์

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ