การประชุมหารือระดับภูมิภาค เรื่อง วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

การประชุมหารือระดับภูมิภาค เรื่อง วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ต.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,521 view

การประชุมหารือระดับภูมิภาค เรื่อง วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

           เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๘ กระทรวงการต่างประเทศและคณะทำงานเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน (Working Group for an ASEAN Human Rights Mechanism) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือระดับภูมิภาค เรื่อง วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Regional Consultation on the Vision of a People-Centred ASEAN Community) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางขับเคลื่อนอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง โดยการประชุมจัดขึ้นที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ

          นายนภดล เทพพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม และนายออง เคง ยอง รองประธานบริหาร S. Rajaratnam School of International Studies และอดีตเลขาธิการอาเซียน (พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๕๑) เป็นผู้กล่าวปาฐกถา โดยย้ำถึงโอกาสและประโยชน์นานัปการที่จะมากับการเป็นประชาคมอาเซียน ความมุ่งมั่นต่ออาเซียนที่จะต้องไม่ลดน้อยลง และการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างเป็นระบบ

          อาเซียนกำลังจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ ซึ่งเป็นแผนงานระยะ ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๘) ต่อเนื่องจากการจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในปลายปีนี้ ในการจัดทำเอกสารดังกล่าว ประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน อาทิ นักธุรกิจ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาเซียน นักเรียน/นักศึกษา ข้าราชการ องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน นำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน

          นอกจากการประชุมหารือในระดับชาติแล้ว ประเทศไทยยังตระหนักถึงความสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับภูมิภาคด้วย  ในการประชุมหารือครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๑๒๐ คน จากองค์กรภาคประชาสังคมในระดับภูมิภาค และองค์กรภาคประชาสังคมจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวม ๔๐ องค์กร และองค์การระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ  ได้แก่ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN OHCHR)

          ประเด็นสำคัญของการประชุม คือ การให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางและประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการทำงานของอาเซียน และแนวทางที่จะก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในความท้าทายสำคัญที่มีการหยิบยกขึ้นหารือ คือ ประชาชนขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน ดังนั้น กิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้และการเผยแพร่ข้อมูลจะช่วยให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบต่อประชาคมอาเซียนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ อาเซียนและองค์กรภาคประชาสังคมควรมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอหรืออย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับการพบปะ การหารือ และความเป็นหุ้นส่วน ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียควรมีบทบาทในการปฏิบัติ การติดตาม และการทบทวนแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕

          ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเสริมสร้างเอกภาพของประเทศสมาชิกอาเซียนต่อหลักการของอาเซียนตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน และต่อบรรทัดฐานและมาตรฐานสากล นอกจากนี้ องค์กรภาคประชาสังคมได้เรียกร้องให้การทำงานของอาเซียนมีความโปร่งใสและความรับผิดชอบ เพื่อให้การพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีสมดุลกับการพัฒนาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำว่า อาเซียนจะต้องปรับปรุงกระบวนการการทำงานและการประสานงานระหว่างสามเสาหลัก รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อให้สามารถนำแนวคิดการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางมาปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ และเพื่อให้แน่ใจว่า อาเซียนไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงในประชาคมนี้

*******

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ