รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๘

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๘

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ส.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 5,478 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๘

         เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๘ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
         ในช่วงเช้า นายราจิบ ราซัค (Najib Razak) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้กล่าวเปิดการประชุมฯ โดยได้แสดงความชื่นชม วิสัยทัศน์ของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงนายถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งอาเซียน และได้ร่วมลงนามปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ ซึ่งนับเป็นรากฐานและเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของอาเซียน เช่นเดียวกับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ นี้ จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อแสดง ความยินดีต่อการจัดการประชุม และหารือแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน  การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินการตามมติที่ประชุมสุด ยอดอาเซียนครั้งที่ ๒๖ และเตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหารือประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ได้แก่
         ๑) การสร้างประชาคมอาเซียน ไทยแสดงความยินดีกับความคืบหน้าในการดำเนินงานมาตรการตามแผนงานการจัดตั้ง ประชาคมอาเซียน และได้เน้นย้ำว่า การเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในสิ้นปีนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นของอาเซียน ไทยสนับสนุนการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ไทยสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนภายใต้หลักการ “One plus One” ซึ่งการลงทุนในประเทศหนึ่งจะเชื่อมต่อไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อส่งเสริม ศักยภาพในการแข่งขันของอาเซียน และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายและเสริมสร้างความร่วมมือ ระหว่างศูนย์วิจัยและพัฒนาในอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงตลาดสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยไทย ยังได้ชี้ถึงความสำคัญของการเผชิญหน้ากับความท้าทายในด้านต่าง ๆ อาทิ  ภัยพิบัติ โดยผ่านการดำเนินการของศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วย เหลือด้านมนุษยธรรม (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance – AHA Centre) และผสานความร่วมมือกับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre for Military Medicine) ในไทย ด้านยาเสพติด ผ่านสำนักงานประสานความร่วมมือด้านยาเสพติด (ASEAN NARCO) ในประเทศไทย และการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ซึ่งล่าสุดประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในการจัดการประชุม ASEAN Plus Three Health Ministers Special Video Conference ในการรับมือกับโรค MERS-CoV ในภูมิภาคนี้
         สำหรับการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ๒๕๕๘ ไทยเน้นย้ำหลักการ “อาเซียนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (No one is left behind) และ “ทุกคนมีสิทธิมีเสียง” (Everyone has a voice) ซึ่งจะเสริมสร้างให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้ จริง      
         ๒) ความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค ที่ประชุมฯ มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงในภูมิภาคและ ความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยไทยผลักดันให้อาเซียนร่วมมือกันเพื่อยกระดับและบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และสนับสนุนให้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) ยังคงเป็นกลไกที่มีบทบาทนำในอาเซียนและรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนใน โครงสร้างสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงในภูมิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งความคืบหน้าและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในทะเลจีน ใต้ และย้ำบทบาทของไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – จีน โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเล จีนใต้ (Declaration on the conducts of Parties in the South China Sea – DOC) การดำเนินมาตรการเร่งด่วน (early harvest measures) และจัดทำsecond list of commonalities ซึ่งเป็นประเด็นที่อาเซียนและจีนเห็นพ้องในการเตรียมการเพื่อเจรจาจัดทำ DOC
         นอกจากนี้ ไทยได้ขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่น ฐานแบบไม่ปกติ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และสนับสนุนให้อาเซียนเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศภายนอกภูมิภาคเพื่อส่ง ผู้โยกย้ายถิ่นฐานกลับประเทศหรือไปยังประเทศที่สาม
         ในช่วงเย็น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยทั้งสองฝ่ายแสดงความยินดีที่ได้พบกันอีกครั้งในปีนี้ซึ่งครบรอบ ๔๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน และแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือทวิภาคีให้แนบแน่น และใกล้ชิดต่อไป โดยฝ่ายจีนเชิญ   นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงาน China – ASEAN EXPO ครั้งที่ ๑๒ ที่นครหนานหนิง ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ กันยายน ๒๕๕๘ ซึ่งจีน ให้เกียรติไทยในฐานะประเทศเกียรติยศ (country of honour) และเชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนปักกิ่ง เพื่อร่วมฉลอง ๔๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน และเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบแม่โขง- ลานช้างที่เมืองจิ่งหง ในเดือนตุลาคม ศกนี้ โดยฝ่ายไทยแจ้งว่าอาเซียนให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิง ยุทธศาสตร์ที่รอบด้านและแสดงความยินดีที่ความสัมพันธ์อาเซียน – จีน จะครบรอบ ๒๕ ปีในปี ๒๕๕๙ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้ประสาน งานอาเซียน – จีน ได้ขอบคุณจีนที่สนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และการมีบทบาทนำของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาคมาโดยตลอด ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นทะเลจีนใต้อย่างรอบ ด้านเพื่อแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า อาเซียนและจีนสามารถจัดการกับปัญหาภายในภูมิภาคได้
       นอกจากนี้ จีนได้แสดงความขอบคุณต่อบทบาทของไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียน – จีนในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงกรณีชาวอุยกูร์ ๑๐๙ คนที่จีนได้รับไปจากไทยโดยพิจารณาตามข้อมูลและหลักฐาน และจะได้เชิญให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเยือนจีนเพื่อติดตามการดูแลชาวอุยกูร์ของฝ่ายจีนอีกครั้งในอนาคต

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ