การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์และลังกาวี มาเลเซีย

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์และลังกาวี มาเลเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 48,980 view

          เมื่อวันที่ 26 – 27 เมษายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน จัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์และลังกาวี โดยมีผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดเข้าร่วม

          ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งมีความคืบหน้าเฉลี่ย ร้อยละ 91.75  การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีกฏ กติกา และทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม การสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งโดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs การขจัดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคทางการค้า การเร่งส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ  ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาในทะเลจีนใต้ ภัยคุกคามจากแนวคิดสุดโต่งรุนแรง เป็นต้น

          นายกรัฐมนตรีของไทยได้เน้นความสำคัญของการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง การส่งเสริมภาคการเกษตรและเกษตรกร เพื่อให้ภูมิภาคนี้เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก การบริหารจัดการภัยพิบัติโดยต้องมีแผนที่ชัดเจนและระบบการเตือนภัยล่วงหน้าที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ การขยายเส้นทางคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ และเสนอให้มีความร่วมมือในด้านการบริหารจัดการชายแดนเพื่อป้องกันผลกระทบทางลบจากความเชื่อมโยง เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น รวมทั้งความคืบหน้าการดำเนินงานในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – จีน

          ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนได้มีโอกาสพบปะหารือกับผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ของอาเซียนด้วย ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เยาวชนอาเซียน และองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งสะท้อนความพยายามและความมุ่งมั่นของอาเซียนที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับทุกภาคส่วน  โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำเพียงคนเดียวที่เข้าร่วมการหารือกับภาคส่วนต่างๆ ในทุกกรอบการประชุม

          ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียนที่ยึดประชาชนเป็นพื้นฐานและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Kuala Lumpur Declaration on a People – Oriented , People-Centered ASEAN) ซึ่งได้รวมข้อเสนอของไทยในการส่งเสริมเกษตรกรรมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านอาหาร ปฏิญญาว่าด้วยประชาคมอาเซียนและประชาชนอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง รู้รับ ปรับตัว ฟื้นกลับจากภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการ (Declaration on Institutionalising the Resilience of ASEAN and its Communities and Peoples to Disaster and Climate Change) และปฏิญญาลังกาวีว่าด้วยขบวนการผู้ยึดถือแนวทางสายกลางระดับโลก (Lankawi Declaration on the Global Movement of Moderates)

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ