กิจกรรมอาเซียนสัญจรและโครงการห้องสมุดอาเซียน ณ จังหวัดตรัง

กิจกรรมอาเซียนสัญจรและโครงการห้องสมุดอาเซียน ณ จังหวัดตรัง

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 มี.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 4,498 view
              กรมอาเซียนได้จัดกิจกรรมอาเซียนสัญจร ครั้งที่ 6/2558 และโครงการส่งมอบห้องสมุดอาเซียน ณ จังหวัดตรัง ในวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2558 โดยมีรองอธิบดีกรมอาเซียน (น.ส. ภาสพร สังฆสุบรรณ์) เป็นหัวหน้าคณะ ทั้งนี้ คณะฯ ได้พบ/หารือกับกลุ่มบุคคลต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับอาเซียน และการใช้ประโยชน์จากประชาคมอาเซียนของไทย รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะ โดยมีสรุปและเรียงลำดับการเข้าพบดังนี้
              1. ภาคการศึกษา เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2558 คณะฯ ได้พบและหารือกับรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โดยมีประเด็นสำคัญได้แก่
                 - ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดกิจกรรมนำนักศึกษาไปทัศนศึกษาที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในสาขาสถาปัตยกรรม อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างคณาจารย์และนักศึกษาบ้างแต่ยังไม่มาก 
                 - มหาวิทยาลัยฯ ยังขาดข้อมูลและความคืบหน้าการดำเนินการในกรอบของอาเซียน โดยเฉพาะในประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานใน 7 สาขากับอีก 1 วิชาชีพ เพื่อประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมของนักศึกษา 
                 - นักศึกษาไทยโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคยังขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียน เข้าใจ และแสวงหาความรู้ด้านภาษาอังกฤษ และยังไม่เข้าใจว่าจะแข่งขันกับคนชาติอาเซียนอื่นอย่างไรและเพื่อเหตุผลใด นอกจากนี้ คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยยังไม่ทราบแหล่งข้อมูลเพื่อศึกษาในรายละเอียด
              2. ภาคประชาสังคม  เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2558 คณะฯ ได้เยี่ยมชมชุมชนของหมู่บ้านนายอดทอง อ. กันตัง จ. ตรัง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิหยาดฝนและเป็นชุมชนที่อนุรักษ์ป่าชายเลน สร้างจิตสำนึกของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งพัฒนาเครื่องจักสานจากทางจากเพื่อสร้างรายได้ให้กับสตรีในชุมชน โดยมีประเด็นสำคัญได้แก่
                 - ปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนกับภาคประชาสังคมของอินโดนีเซียและมาเลเซีย เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะป่าชายเลน เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันในด้านชีวิต ความเป็นอยู่ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและร่วมกันปกป้องทรัพยากรร่วมกันกับประเทศในอาเซียน
                 - มูลนิธิฯ ประสงค์จะยกระดับชุมชนดังกล่าวให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์ และการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง/ระบบนิเวศน์ เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการเสริมสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะสตรี ทั้งนี้ ชุมชนฯ ยังขาดงบประมาณสำหรับการดำเนินการ อีกทั้งยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาเครื่องจักสานจากทางจากในเชิงพาณิชย์ และขาดทักษะด้านภาษาอังกฤษสำหรับใช้ในการติดต่อสื่อสารกับภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศอื่น ๆ 
             3. ภาคเอกชน เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2558 คณะฯ ได้ประชุมหารือกับ ภาคธุรกิจของจังหวัดตรัง โดยมีผู้แทนหอการค้าและอุตสาหกรรมจังหวัด อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด สมาคมการท่องเที่ยวและโรงแรม และมีผู้แทนจากพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานจังหวัดร่วมด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปัญหา/อุปสรรค พร้อมข้อเสนอแนะ โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่
                - ความห่วงกังวลเรื่องทักษะภาษาอังกฤษและการมีแรงงานจากชาติสมาชิกอาเซียนเข้ามาทำงานในไทยมากกว่าคนไทยไปทำงานในประเทศอาเซียนอื่น ๆ จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการในการพัฒนาศักยภาพของแรงงานของไทยเพื่อรองรับกรณีแรงงานไทยเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียน
                - การใช้จุดแข็งของจังหวัดตรังในด้านการท่องเที่ยวให้มีบทบาทนำในการร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค 
                - เรื่องประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับประชาชนทั่วไป จึงต้องเตรียมความพร้อมของนักธุรกิจกลุ่มต่าง ๆ ให้ตรงตามความประสงค์
                - การให้ภาครัฐช่วยพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับผู้ประกอบการจากชาติสมาชิกอาเซียนอื่น
                - ควรต้องมีกลไกรองรับกรณีเอกชนไทยมีปัญหาข้อขัดแย้งกับเอกชนจากชาติสมาชิกอาเซียนอื่น เช่น มาเลเซีย 
                - ให้ภาครัฐแก้ไขปัญหารถนำเที่ยวของมาเลเซียที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามายังจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคใต้ของไทยได้ ในขณะที่มาเลเซียอนุญาตให้รถนำเที่ยวของไทยไปได้ถึงพื้นที่บริเวณชายแดนเท่านั้น รวมทั้งลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคสำหรับฝ่ายไทย เช่น การทำประกันภัยรถยนต์ในฝั่งมาเลเซีย การติดฟิล์มรถยนต์ต้องไม่เกินร้อยละ 25 
            4. ภาคสื่อมวลชน การพบปะกับสื่อมวลชนท้องถิ่นเพื่อเชิญชวนสื่อมวลชน โดยเฉพาะผู้จัดรายการวิทยุท้องถิ่น และให้ข้อมูลในรายการวิทยุเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ซึ่งจะสามารถช่วยหน่วยงานภาครัฐในการนำเสนอข้อมูลให้แก่ชุมชนท้องถิ่นได้โดยตรง
            5. การเข้าเยี่ยมคารวะผู้ว่าราชการจังหวัด คณะฯ ได้นำประเด็นที่ได้จากการหารือกับกลุ่มบุคคลต่าง ๆ แจ้งแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้เกิดจำนวนผู้เยาว์ที่ต้องตั้งครรภ์ก่อนกำหนด ซึ่งบุคคลเหล่านี้ควรได้รับโอกาสให้กลับเข้าสู่สังคมและประชาคมอาเซียนในอนาคตโดยผ่านการศึกษา
            6. การส่งมอบ-รับมอบห้องสมุดอาเซียน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2558 คณะฯ ได้เข้าร่วมพิธีส่งมอบ-รับมอบห้องสมุดอาเซียน ณ โรงเรียนบ้านต้นปรง อ. วังวิเศษ จ. ตรัง โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด (นายนิกร สุกใส) นายกเทศมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 2 คณาจารย์ ผู้ปกครอง และนักเรียนเข้าร่วมประมาณ 100 คน 
               โรงเรียนบ้านต้นปรงมีการเรียนการสอนระดับอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนประมาณ 1,000 คน เป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในพื้นที่จนสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความรู้และความเป็นเลิศทางวิชาการแห่งหนึ่งของจังหวัด และเป็นโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโรงเรียนต้นแบบการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียนของกรมอาเซียน เมื่อปี 2554
                กรมอาเซียนได้จัดสร้างห้องสมุดอาเซียนในบริเวณพื้นที่ขนาด 6x9 เมตร โดยได้จัดสร้างบอร์ดประชาสัมพันธ์ บอร์ดถาวรให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนและประชาคมอาเซียน ชั้นวางหนังสือ รวมทั้งจัดซื้อหนังสือเกี่ยวกับอาเซียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งสิ้นประมาณ 500 เล่มไปบรรจุที่ห้องสมุด 
                ภายหลังการส่งมอบห้องสมุดอาเซียน กรมอาเซียนได้จัดกิจกรรมถาม-ตอบปัญหาเกี่ยวกับอาเซียนและประชาคมอาเซียน และแจกเอกสารเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนให้แก่นักเรียนที่เข้าร่วมประมาณ 80 คน ซึ่งได้รับความสนใจและมีส่วนร่วมจากนักเรียนเป็นอย่างดี
 
**********************************
 
กองยุทธศาสตร์และความร่วมอาเซียน กรมอาเซียน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ