การมีผลบังคับใช้ของความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM)

การมีผลบังคับใช้ของความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM)

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 14 ต.ค. 2565

| 7,217 view

การมีผลบังคับใช้ของความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation : CMIM)

                เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2557 ปลัดกระทรวงการคลังทำหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งประเทศไทยได้ลงนามในความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีฉบับปรับปรุง หลังจากที่ผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม (ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และธนาคารกลางฮ่องกงได้ลงนามก่อนหน้านี้ ซึ่งส่งผลให้ความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2557 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินของภูมิภาคในการเสริมสภาพคล่อง ในกรณีที่ประเทศที่เข้าร่วมประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องระยะสั้น ด้วยการ

                1. ขยายขนาดของกองทุน จาก 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                2. ปรับสัดส่วนวงเงินที่ประเทศที่เข้าร่วมจะขอรับโดยไม่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF De-linked Portion) จากเดิมร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30

                3. จัดตั้งกลไกป้องกันความเสี่ยง (Crisis Prevention Facility) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จากเดิมที่จะให้หลังจากที่ประสบวิกฤตแล้วเท่านั้น

                ความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี ปรับปรุงจากมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative : CMI) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 โดยทำหน้าที่เปรียบเสมือนแหล่งเงินทุนเพื่อให้ประเทศที่เข้าร่วมกู้ยืมในยามเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ อันจะช่วยป้องกันมิให้ปัญหาลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ดังเช่น กรณีวิกฤตทางเศรษฐกิจในเอเชียเมื่อปี 2540 โดยมีสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสาม (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO) ซึ่งกำลังยกฐานะเป็นองค์การระหว่างประเทศและตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและให้ข้อเสนอแนะแก่ประเทศที่ประสบปัญหาเพื่อขอรับความช่วยเหลือจาก CMIM สำหรับวงเงินสำรองฉุกเฉิน  ที่มีอยู่ 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจากเงินสมทบของประเทศสมาชิกอาเซียนร้อยละ 20 หรือ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากกลุ่มประเทศบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ร้อยละ 80 หรือเท่ากับ 96,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ CMIM เป็นการกันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมมาสมทบเป็นกองกลาง โดยจะโอนเงินตามข้อผูกพันไปให้ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือตามสัดส่วนวงเงินสมทบที่ได้ตกลงกันดังกล่าว

                ในส่วนของประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีต้องนำเงินเข้าสมทบ 9,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศในบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยหากไทยประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ก็สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ 2.5 เท่าของวงเงินสมทบ หรือเท่ากับ 22,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

*************

กองความสัมพันธ์กับคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศ

กรมอาเซียน

กรกฎาคม 2557