สรุปประเด็นสำคัญการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24

สรุปประเด็นสำคัญการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 พ.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ต.ค. 2565

| 31,806 view

สรุปประเด็นสำคัญการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 24

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 24

               ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าในการสร้างประชาคมอาเซียน(Report of the Secretary General of ASEAN on the Work of ASEAN) จากเลขาธิการอาเซียน และ โดยที่ปีนี้เป็นปีที่สำคัญของอาเซียนก่อนที่อาเซียนจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อาเซียนจึงให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการในมาตรการที่ยังคงค้างให้แล้วเสร็จ

              ไทยได้ให้ความเห็นว่า อาเซียนควรหาแนวทางแก้ไขความท้าทายของการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอสำหรับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่สำคัญ 
การให้ความสำคัญกับการประสานงานระหว่าง 3 เสาอย่างมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน เพื่อให้บรรลุประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

              ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับอนาคตของอาเซียนภายหลังปี 2558(ASEAN Community’s
Post-2015 Vision)
ซึ่งอาเซียนได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี 2558
โดยประเด็นที่ไทยผลักดัน ได้แก่ การสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง การเป็น rule-based community การรักษาความเป็นแกนกลางและบทบาทของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค การจัดการกับประเด็นที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนภายในภูมิภาคและปัญหาข้ามพรมแดนต่าง ๆ อาทิ การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และการโยกย้ายถิ่นฐานนอกจากนี้ ไทยเห็นว่าอาเซียนควรกำหนดเป้าหมาย
การพัฒนาของอาเซียน (ASEAN Development Goal) ในประเด็นสำคัญ  อาทิ การขจัดความยากจน  สาธารณสุข การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติ

              ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์ของอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค
โดยเห็นพ้องว่า อาเซียนจำเป็นต้องขยายความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน และส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก

              นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภัยพิบัติทางธรรมชาติความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาค และสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ โดยเวียดนามได้แจ้งที่ประชุมเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดในพื้นที่  จีนได้ลากแท่นขุดเจาะน้ำมันล้ำเข้ามาในพื้นที่โดยห่างจากชายฝั่งเวียดนามประมาณ 80 ไมล์ทะเล โดยเรือเวียดนามและจีนชนกันจนเกิดความเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บที่ประชุมได้แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบด้วยว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับพัฒนาการในทะเลจีนใต้ด้วย (Statement on the Current Developments in the in South China Sea)

              นรม.กัมพูชาได้เสนอให้มีแถลงการณ์เกี่ยวกับพัฒนาการในประเทศไทย(Statement on the Developments in Thailand) ซึ่งไม่มีประเทศใดขัดข้อง โดยแถลงการณ์ดังกล่าวเน้นการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย และการแก้ไขปัญหาโดยสันติ โดยคำนึงถึงความต้องการ
ของประชาชนไทย

              ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ คือปฏิญญากรุงเนปิดอว์ว่าด้วยการบรรลุการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 (Nay Pyi Taw Declaration on Realization of ASEAN Community 2015)ซึ่งมีสาระสำคัญในการเน้นย้ำความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียนในการบรรลุการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี2558 รวมทั้งการกระชับความสัมพันธ์กับภายนอกภูมิภาคในมิติต่าง ๆ อาทิ การรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน การส่งเสริมค่านิยมและบรรทัดฐานร่วมด้านประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศนอกภูมิภาค การส่งเสริมบทบาทสตรีและเยาวชนในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ความร่วมมือในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งการส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก

 

การประชุมกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนและเยาวชนอาเซียน

              นอกจากการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนด้วยกันเองแล้ว จะมีการพบปะหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน(ASEAN Inter-Parliamentary Assembly: AIPA) และผู้แทนเยาวชน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอีกด้วย

              ในการประชุมกับผู้แทน  AIPA ที่ประชุมได้ย้ำถึงบทบาทสำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติในการช่วยส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการนำข้อตกลงต่างๆ ของอาเซียนมาปรับใช้ภายใยนประเทศ ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความตระหนักรู้ของภาคประชาชน รวมถึงการร่วมจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี 2558 จึงเห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารควรมีการประสานงานและทำงานอย่างใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ ไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งอาเซียนกำลังจะกลายเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558

              ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของเยาวชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างประชาคมอาเซียนของเยาวชน และประเทศต่าง ๆ ล้วนเห็นความสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพให้เยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการกำหนดทิศทางในอนาคตของประชาคมอาเซียนต่อไป อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้นำ เยาวชน ผู้แทนรัฐสภาและภาคประชาสังคมทำงานกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

***************

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ