การบรรยายสรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

การบรรยายสรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 พ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,764 view

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2555 เวลา 15.30-16.30 น. ที่ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร อธิบดีกรมอาเซียนได้บรรยายสรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 18-20 พ.ย. 2555 ณ กรุงพนมเปญ แก่ผู้แทนคณะทูตประเทศต่างๆ และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศในประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 70 คน สาระสำคัญของการบรรยายมีดังนี้

  • ภาพรวมของผลการประชุม ได้แก่ (1) การสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งที่ประชุมสุดยอดได้กำหนดให้วันที่ 31 ธ.ค. 2558 เป็นวันบรรลุเป้าหมายการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (2) การสร้างความเป็นเอกภาพและทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (3) การบูรณาการทางเศรษฐกิจ โดยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศและประเทศคู่ค้าที่ทำ FTA กับ อาเซียนได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประกาศที่จะเจรจาจัดทำ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ในช่วงต้นปี 2556 ซึ่งจะเป็นเขตการค้าเสรีระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมตลาดครึ่งหนึ่งของโลก (4) การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ซึ่งในเรื่องนี้ ไทยได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือของไทยกับเมียนมาร์ในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย
  • สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 21 ที่ประชุมเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก ให้ทันตามเป้าหมายปี 2558 โดยให้กำหนดประเด็นความสำคัญ (priority issues) ส่วนการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียนนั้น ที่ประชุมเห็นว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือการระดมทุนให้เพียงพอ โดยจำเป็นต้องหานวัตกรรมทางการเงินหรือแนวทางระดมทุนอื่นๆจากประเทศนอกภูมิภาคและภาคเอกชน นอกจากนี้ ที่ประชุมยินดีต่อการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration - AHRD) ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ส่วนประเด็นด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่่ ไทยเรียกร้องให้ประเทศภาคีร่วมมือกันจัดการปัญหายาเสพติดเพื่อให้อาเซียนเป็นเขตปลอดยาเสพติดในปี 2558 และเร่งพิจารณาการประชุมอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ รวมถึงการบริหารจัดการภัยภิบัติ ซึ่งไทยได้ย้ำถึงความพร้อมในการเป็นคลังสำรองข้าวยามฉุกเฉิน
  • สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 15 ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยจะใช้ FTA อาเซียน-จีน เพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และให้จีนมาลงทุนในอาเซียนเป็นเงิน 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 นอกจากนี้ จีนได้เสนอให้มีการจัดตั้ง ASEAN-China Maritime Partnership, กลไกที่ปรึกษาระหว่างคณะกรรมการประสานงานด้านความเชื่อมโยงในอาเซียน, และการประชุมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน-จีน
  • ด้านการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 15 ที่ประชุมตกลงที่จะร่วมมือในด้านการเชื่อมโยงให้มากขึ้น และสนับสนุนความตกลงว่าด้วยการค้าบริการและการลงทุนภายใต้ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงที่จะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค. 2559
  • ส่วนการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี ครั้งที่ 15 ที่ประชุมตกลงที่จะเพิ่มความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุน ลดช่องว่างการพัฒนาและการเชื่อมโยง โดยผู้นำอาเซียนสนับสนุนให้เกาหลีจัดตั้งกลไกประสานงานกับอาเซียนในด้านการเชื่อมโยง
  • สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 สมัยพิเศษจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ15 ปีของการก่อตั้งอาเซียน+3 โดยที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ความเป็นหุ้นส่วนของอาเซียน+3 ด้านการเชื่อมโยง (Statement on ASEAN+3 partnership on Connectivity) ซึ่งให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงด้านสถาบันและกลไกทางการเงิน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ตกลงที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (CMIM) ข้อริเริ่มตลาดพันธบัตรเอเชีย (ABMI) และส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นสำหรับการค้าในภูมิภาค รวมถึงขยายความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางอาหารด้วยการตั้ง ASEAN+3 Emergency Rice Reserve
  • ส่วนการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 10 ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษ ในเดือน ธ.ค. 2555 ที่กรุงนิวเดลี ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย ในการนี้ ผู้นำอาเซียนได้สนับสนุนการจัด ASEAN-India Car Rally เพื่อสะท้อนความเชื่องโยงระหว่างอาเซียนและอินเดีย
  • สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 4 สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนในการต่อต้านการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ และบทบาทของสหรัฐในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยกระดับความสัมพันธ์ไปเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2558 และเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย ในการนี้สหรัฐฯ ได้เสนอการขยายการเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจ (Expanded Economic Engagement) หรือ E3 Initiative ในกรอบความตกลงการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ
  • ด้านการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 7 ที่ประชุมตกลงที่จะให้ EAS เป็นเวทีหารือประเด็นด้านยุทธศาสตร์ของภูมิภาคในระดับที่สร้างความสะดวกใจแก่ทุกฝ่าย โดยตกลงที่จะส่งเสริมใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเงิน พลังงาน การจัดการภัยพิบัติ การศึกษา สาธารณสุข และการเชื่อมโยง และขยายความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางทะเล ความมั่นคงทางอาหาร ปัญหาสิ่งแวดล้อม การขจัดความยากจน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความเชื่อมโยง การไม่แพร่กระจาย WMD (Weapon Mass Destruction) สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี การปฏิรูปการเมืองในเมียนมาร์ วิกฤตยูโรโซน และปัญหาทะเลจีนใต้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ