การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34

การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มิ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 178 view

การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ
ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 
34

                              เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ สมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) เยาวชนอาเซียน และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต

                      ในระหว่างการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับ AIPA นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความสำคัญของรัฐสภาในฐานะผู้แทนของประชาชนและบทบาทของรัฐสภาในการสื่อสารให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ร่วมเป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนและการสร้างความสอดคล้องทางด้านกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธาน AIPA ได้สนับสนุนความร่วมมือระหว่าง AIPA กับอาเซียน เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้เสริมสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสำนักเลขาธิการอาเซียนกับสำนักเลขาธิการ AIPA เพื่อให้มีความร่วมมือระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่ยั่งยืน

                      นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้สมัชชารัฐสภาอาเซียนใช้ประโยชน์จากการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 40 ในเดือนสิงหาคมนี้ ที่กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาแนวทางสำหรับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสมัชชารัฐสภาอาเซียนเพื่อสร้างความตระหนักรู้และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขประเด็นที่เป็นปัญหาร่วมกันในภูมิภาค เช่น ขยะทะเล ให้มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม

                      ผู้นำอาเซียนยังได้พบหารือกับผู้แทนเยาวชนอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้เยาวชนเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงมีความพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาคมอาเซียนที่ครอบคลุม แบ่งปัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเอื้ออาทร ซึ่งนางสาวปิ่นอนงค์ วีสเพ็ญ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้แทนเยาวชนอาเซียนได้แสดงข้อคิดเห็นต่อประเด็นที่มีผลกระทบต่อเยาวชนโดยตรง อาทิ การศึกษา การรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเสนอแนวทางการรับมือกับประเด็นเหล่านี้อย่างเข้มแข็ง เป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การใช้สื่อออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ในการนี้ นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เสนอให้เยาวชนพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 รู้จักคิดนอกกรอบ และเป็นผู้นำแห่งสันติภาพและความมั่นคง ในขณะที่นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เมียนมา เสนอให้เยาวชนตระหนักถึงการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดี

                      สำหรับการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับ ASEAN-BAC นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริม MSMEs ความเชื่อมโยงด้านการค้าดิจิทัล รวมถึงการเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีให้มีความเข้มแข็ง โดยผลักดันการสรุปผลการเจรจา RCEP ในปีนี้ ในการนี้ นายอรินทร์ จิรา ประธาน ASEAN-BAC ได้แสดงความเห็นพ้องกับอาเซียนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วและเสนอประเด็นที่ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถร่วมมือกันเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และ MSMEs ผ่านโครงการ AHEAD 4.0 (ASEAN Human Empowerment And Development Towards 4.0) ซึ่งเป็นโครงการของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ รวมทั้งส่งเสริมการค้าการลงทุนที่ยั่งยืนของภูมิภาคต่อไป

                      การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับภาคส่วนต่าง ๆ สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียนในการส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”

เอกสารประกอบ

news-20190626-164949-459949.pdf