รองอธิบดีกรมอาเซียนร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการหารือเชิงนโยบายของอาเซียนเรื่องสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รองอธิบดีกรมอาเซียนร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการหารือเชิงนโยบายของอาเซียนเรื่องสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ก.ค. 2566

| 645 view

          เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นายพลพงศ์ วังแพน รองอธิบดีกรมอาเซียน ได้เป็นวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการหารือเชิงนโยบายของอาเซียนเรื่องสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The ASEAN Policy Dialogue on Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนางสาวอุรวดี ศรีภิรมย์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ ที่สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา

          ศูนย์ยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศ (Center for Foreign Policy Strategy) กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียได้จัดการประชุมนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีส่วนช่วยธำรงสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากว่า 47 ปีนับแต่ผู้นำประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนลงนามสนธิสัญญาฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1 ที่บาหลี เมื่อปี 2519 โดยที่ประชุมฯ ได้หารือโอกาสและความท้าทายของบริบทสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในปัจจุบัน รวมถึงนัยของการที่มีประเทศนอกภูมิภาคให้ความสนใจเข้าเป็นอัครภาคีของสนธิสัญญาฯ เพิ่มมากขึ้นนับแต่ปี 2546 ที่จีนและอินเดียเข้าเป็นอัครภาคีแรก

          ในโอกาสนี้ รองอธิบดีฯ ได้นำเสนอบริบทของวิวัฒนาการของสนธิสัญญาฯ ในฐานะเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมายฉบับแรกของอาเซียน ซึ่งทำให้อาเซียนเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่เคารพหลักการพื้นฐานในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาทิ การเคารพซึ่งกันและกันในเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน ไม่แทรกแซงกิจการภายใน ระงับข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี ไม่ข่มขู่คุกคามหรือใช้กำลัง และหลักความร่วมมือ จนนำไปสู่การเปิดรับประเทศนอกภูมิภาคเข้าเป็นอัครภาคี ซึ่งช่วยย้ำความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาค โดยรองอธิบดีฯ สนับสนุนการใช้สนธิสัญญาฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม “มิตรภาพ” และ “ความร่วมมือ” ระหว่างอัครภาคี เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          อนึ่ง ปัจจุบัน สนธิสัญญาฯ มีอัครภาคีทั้งหมด 50 รัฐ/องค์กร โดยล่าสุดเมื่อปี 2565 มี 7 ประเทศที่ได้ภาคยานุวัติเป็นอัครภาคีฯ ได้แก่ เดนมาร์ก กรีซ เนเธอร์แลนด์ โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และยูเครน และในปี 2566 ซาอุดีอาระเบีย ได้ภาคยานุวัติสนธิสัญญา ฯ เป็นอัครภาคี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม  2566

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ