นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนแบบ “ใจถึงใจ” รวมทั้งการเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๔

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนแบบ “ใจถึงใจ” รวมทั้งการเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,308 view

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๔ โดยเน้นย้ำความจำเป็นของความร่วมมือในการจัดการและรับมือกับประเด็นท้าทายต่างๆ ร่วมกัน อาทิ โควิด-๑๙ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔ และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล พร้อมขอบคุณญี่ปุ่นที่ได้ให้การสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-๑๙ และการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่

เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๔ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยได้กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศ ผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งเน้นย้ำประเด็นสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้แก่ (๑) ด้านสาธารณสุขและการเตรียมความพร้อมของภูมิภาคให้สามารถรับมือกับการระบาดระลอกใหม่และโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (๒) การสร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจในภูมิภาคผ่านความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (๓) การบูรณาการทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมโยงและการฟื้นคืนสภาพของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค (๔) การเสริมสร้างศักยภาพของ MSMEs โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (๕) ความเชื่อมโยงในภูมิภาค (๖) ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารจัดการสังคมผู้สูงอายุ และ (๗) ความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การแสวงหาความร่วมมือระหว่างยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่ประชุมฯ ได้เน้นย้ำความสำคัญของการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้มีความก้าวหน้าและเกิดผลที่เป็นรูปธรรม และสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยเห็นพ้องว่า ในบริบทของโควิด-๑๙ อาเซียนและญี่ปุ่นควรต้องร่วมมือเพื่อรับมือกับผลกระทบต่างๆ ทั้งในด้านสาธารณสุข การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งในระยะยาว ซึ่งรวมถึงความร่วมมือภายใต้กรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นจะครบรอบ ๕๐ ปี ในปี ค.ศ. ๒๐๒๓ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความพร้อมของไทยที่จะให้ความร่วมมือเพื่อเตรียมการเพื่อให้การเฉลิมฉลองวาระพิเศษนี้ประสบความสำเร็จอย่างดีที่สุด

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ