นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๘ และ ๓๙

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๘ และ ๓๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ต.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 1,643 view

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ความจำเป็นในการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนและกับภาคีภายนอกในการรับมือกับโควิด-๑๙ ย้ำถึงการรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเพื่อรักษาดุลยภาพทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๘ และ ๓๙

เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๘ และ ๓๙ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลามเป็นองค์ประธาน การประชุม และมีประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมการประชุมฯ ด้วย

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๘ ที่ประชุมฯ เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตามแนวคิดหลักการเป็นประธานอาเซียนปี ๒๕๖๔ ของบรูไนฯ “เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง” (We Care, We Prepare, We Prosper) รวมทั้งเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนและกับภาคีภายนอกในการรับมือกับโควิด-๑๙

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงโดยผลักดันประเด็นสำคัญ ดังนี้ (๑) การเพิ่มพูนความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-๑๙ ซึ่งรวมถึงการใช้เงินจากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ ในการจัดซื้อวัคซีนโควิด-๑๙ สำหรับประชาชนอาเซียน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ผลักดันให้อาเซียนส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาวัคซีน โดยแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-๑๙ ระหว่างกัน (๒) การเปิดภูมิภาคอย่างปลอดภัยโดยใช้ประโยชน์จากกรอบการจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางทางธุรกิจและอาจพิจารณาขยายให้ครอบคลุมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมีผลใช้บังคับโดยเร็ว รวมทั้งสนับสนุนให้มีการประกาศเดินหน้าเจรจาการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา เพื่อส่งเสริมสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการค้าการลงทุน และขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการในการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ และ (๓) การส่งเสริมความยั่งยืนของอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับโลกตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย และสนับสนุนความร่วมมือในเรื่อง “วาระสีเขียวอาเซียน” ซึ่งรวมถึงพลังงานสะอาด การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ความเท่าเทียมทางดิจิทัล การพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และการเงินสีเขียว

ที่ประชุมฯ ยังได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม ๑๓ ฉบับ โดยมีเอกสารที่สำคัญ อาทิ ปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันว่าด้วยข้อริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และองค์รวมเพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติของอาเซียน ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยเศรษฐกิจภาคทะเล แผนยุทธศาสตร์อาเซียนในประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔ และแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการยกระดับการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน

ในส่วนของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๓๙ ที่ประชุมฯ เห็นพ้องถึงความสำคัญของการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับคู่เจรจาและภาคีภายนอกของอาเซียนให้แนบแน่นยิ่งขึ้น โดยได้เห็นชอบต่อข้อเสนอการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์ฯ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ และการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู เพื่อฉลองวาระครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์ฯ ในปี ๒๕๖๕ ที่กรุงบรัสเซลส์ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์ ที่สำคัญต่าง ๆ ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น ทะเลจีนใต้ หุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ (AUKUS) และสถานการณ์ในเมียนมา

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเพื่อรักษาดุลยภาพทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค โดยดำเนินการตาม ๓ แนวทางควบคู่กันไป ได้แก่ (๑) การเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกของอาเซียน รวมทั้งรักษาบทบาทนำในการขับเคลื่อนข้อริเริ่มต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนและผลประโยชน์ของอาเซียน ในการนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่สหราชอาณาจักรได้รับสถานะเป็นคู่เจรจาอันดับที่ ๑๑ ของอาเซียน (๒)การส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาคและใช้ประโยชน์จากมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกในการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอก และ (๓) การพิจารณาใช้แนวทางใหม่ ๆ ในการมีปฏิสัมพันธ์กับจีนสหรัฐฯ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถแสวงจุดร่วมในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคได้ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ในส่วนของสถานการณ์ในเมียนมา นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ไทยต้องการเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาและการกลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย และสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาผ่านการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อ โดยไทยเห็นว่าบทบาทของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องเมียนมาจะสามารถช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและบรรยากาศสำหรับการหารือที่สร้างสรรค์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ ไทยหวังว่าการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมยังคงดำเนินต่อไปและมีการกระจายความช่วยเหลือไปยังประชาชนทุกฝ่าย ซึ่งไทยได้สนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาผ่านทางช่องทางอาเซียนและทวิภาคี นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงความสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนควรช่วยกันธำรงไว้ ด้วยการช่วยกันให้สมาชิกครอบครัวอาเซียนสามารถอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าครบถ้วนดังที่เคยเป็น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ