นายกรัฐมนตรีย้ำความเป็นแกนกลางของอาเซียน เพื่อสันติภาพที่ถาวรและความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑๕

นายกรัฐมนตรีย้ำความเป็นแกนกลางของอาเซียน เพื่อสันติภาพที่ถาวรและความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,988 view
นายกรัฐมนตรีย้ำไทยสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค เพื่อสันติภาพที่ถาวรและความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาคและเชิญให้ประเทศต่าง ๆ ขยายความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม โดยในช่วงโควิด-๑๙ เน้นความมั่นคงด้านสาธารณสุข ความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาทุนมนุษย์ ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑๕
 
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายกรัฐมนตรีเวียดนาม เป็นประธานการประชุมฯ โดยมีผู้นำและผู้แทนประเทศเข้าร่วมจำนวน ๑๘ ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ มีเลขาธิการสหประชาชาติ ประธานกลุ่มธนาคารโลก และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมด้วย 
 
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ ๑๕ ปีของ EAS และย้ำว่า EAS เป็นกลไกหารือประเด็นทางยุทธศาสตร์อย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างสันติภาพ และความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค รวมทั้งความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยมในการแสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง 
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความมั่นคงด้านสาธารณสุข ความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยใช้ประโยชน์จากกลไกและศูนย์ต่าง ๆ และเสนอแนะให้ EAS ผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลและสร้างมาตรฐานด้านดิจิทัลร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างครบวงจร 
 
ที่ประชุมฯ ย้ำถึงผลกระทบที่ร้ายแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเลขาธิการสหประชาชาติ ได้เน้นย้ำความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของทุกประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาวัคซีนให้ทุกคนเข้าถึงได้ และการจัดการปัญหาท้าท้ายรูปแบบใหม่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างการพัฒนา  ทั้งนี้ ประธานกลุ่มธนาคารโลกแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศ โดยเฉพาะ การให้คำแนะนำเชิงเทคนิคในการจัดหาวัคซีน
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเน้นย้ำการเป็นเวทีหารือประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ในระดับผู้นำของ EAS โดยประเทศที่เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของภูมิภาคและพัฒนาการในภูมิภาค ซึ่งมีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยที่ประชุมสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่ต้องเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
 
ที่ประชุมรับรองเอกสารผลลัพธ์ ๕ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญากรุงฮานอยในโอกาสครบรอบ ๑๕ ปีของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (๒) ถ้อยแถลงผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความยั่งยืนทางทะเล (๓) ถ้อยแถลงผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถร่วมกัน ในการป้องกันและรับมือกับโรคระบาด (๔) ถ้อยแถลงผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยสตรี สันติภาพ และความมั่นคง และ (๕) ถ้อยแถลงผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเติบโตที่มั่นคงของเศรษฐกิจภูมิภาค

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ