รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 598 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – ญี่ปุ่น ยืนยันความพร้อมในการดำรงตำแหน่งประเทศผู้ประสานงาน เน้นย้ำความร่วมมือภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก และความร่วมมือในรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายโมเทกิ โทชิมิทสึ (H.E. Mr. Motegi Toshimitsu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วม

ที่ประชุมฯ แสดงความยินดีกับญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโตเกียว ค.ศ. ๒๐๒๐ และได้หารือถึงความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในมิติต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงด้านสาธารณสุขและการรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยญี่ปุ่นมุ่งหวังให้อาเซียนสามารถจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases - ACPHEED) ได้ในโอกาสแรก ตลอดจนสนับสนุนการเสริมสร้างความร่วมมือใน ๔ สาขาภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และการปฏิบัติตามถ้อยแถลงร่วมอาเซียน-ญี่ปุ่นในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์ในเมียนมา และสถานการณ์ในทะเลจีนใต้

ในการประชุมฯ ไทยได้แสดงความพร้อมในการดำรงตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๔ - ๒๕๖๗ และเน้นย้ำการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ (Heart-to-Heart Partnership) เพื่อบรรลุความยั่งยืนในทุกมิติ โดยเน้นการดำเนินการที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งสนับสนุนการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ การฟื้นฟูหลังการระบาดของโควิด-๑๙ การส่งเสริมความร่วมมือภายใต้เอกสาร AOIP ซึ่งรวมถึงการแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ อาทิ รูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น อีกทั้งได้แสดงความพร้อมสำหรับการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปีของความสัมพันธ์ฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๖

ในช่วงสุดท้ายของการประชุมฯ ไทยได้รับมอบตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นต่อจากเวียดนาม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ