รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 646 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความร่วมมือด้านการกระจายวัคซีน การพัฒนาด้านดิจิทัล และการส่งเสริมความสมดุลตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๔ และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยมีนาย Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นประธานร่วม

ที่ประชุมฯ ย้ำความสำคัญของความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ โดยสหรัฐฯ ได้ประกาศสนับสนุนเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-๑๙ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้เน้นย้ำความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การส่งเสริมการค้าการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาทุนมนุษย์ การพัฒนาด้านดิจิทัลและความมั่นคงทางไซเบอร์ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับอาเซียนในการเสริมสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง เชื่อมต่อกัน มีความเข้มแข็ง และมั่นคง ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือในการรับมือกับโควิด-๑๙ และมีข้อเสนอเกี่ยวกับความร่วมมือของอาเซียนกับสหรัฐฯ ดังนี้ (๑) ประสานความร่วมมือในการสำรองวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในภูมิภาค สำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต (๒) เสริมสร้างดุลยภาพทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค โดยมีอาเซียนเป็นเวทีในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกผู้เล่นหลักในภูมิภาค รวมถึงประเทศมหาอำนาจ (๓) พัฒนาความร่วมมือด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนจากโควิด-๑๙ และ (๔) ปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ที่เน้นเรื่องความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเสนอโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นแนวคิดที่สอดคล้องและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่ม Build Back Better World (B3W) ของสหรัฐฯ ได้

ในโอกาสนี้ สปป. ลาว ซึ่งเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ได้ส่งมอบหน้าที่ดังกล่าว ให้แก่อินโดนีเซีย ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่ในวาระ ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๔ ต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ