อุปสรรคของประชาคมความมั่นคงอาเซียน

อุปสรรคของประชาคมความมั่นคงอาเซียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 60,123 view

คอลัมน์: มิติโลกาภิวัตน์: อุปสรรคของประชาคมความมั่นคงอาเซียน

จากการเลือกตั้ง กทม. หันมาดูข่าวต่างประเทศบ้าง ก็จะเห็นว่า ประกาศเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียน ในการสร้างประชาคมอาเซียนหนึ่งเดียวนั้น เฉพาะประชาคมความมั่นคงของอาเซียน เริ่มจะเห็นปัญหาและอุปสรรค ของเสาหลักเรื่องนี้เสียแล้ว เพราะข่าวการสู้รบที่เกิดขึ้นที่เกาะซาบาห์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของมาเลเซียกับคนของเกาะแห่งนี้ ทำท่ายืดเยื้อแย่งชิงเกาะซาบาห์กันขึ้นมาอีกแล้ว

แน่นอนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ กระทบกระทั่งต่อการสร้างประชาคมความมั่นคงของอาเซียนขึ้นมาอีกครั้ง ที่จริงมีเหตุซึ่งขณะนี้กำลังเป็นกรณีพิพาทบาดหมางกันในอาเซียนเองหลายเหตุ ที่เริ่มสั่นคลอนความมั่นคงของอาเซียน จนน่ามองได้ว่า เสาหลักเรื่องประชาคมอาเซียนนั้น ดูจะยากลำบากต่อบูรณาการเข้าสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ยากกว่าเสาหลักเรื่องเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม

ทั้งกรณีคดีพิพาทเขตพื้นที่ 4.6 ตร.กม.บริเวณเขาพระวิหารระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา หรือแม้เหตุความไม่สงบชายแดนในเขตสามจังหวัดภาคใต้ของไทย และเหตุปะทุที่เกาะซาบาห์ ที่กลายเป็นเหตุความไม่สงบขึ้นมาใหม่อีก ถ้าไม่นับเหตุอื่นที่คั่งค้างความขัดแย้งกันเองในอาเซียนแล้ว เรื่องอันเป็นเหตุบาดหมางทางใจในประวัติศาสตร์ของชาติอาเซียนด้วยกัน ล้วนท้าทายการเป็นประชาคมความมั่นคงของอาเซียนว่าประกาศเจตนารมณ์สร้างประชาคมอาเซียนนั้น เป็นจริงหรือเป็นแต่จินตนาการ

ความขัดแย้งกรณีหมู่เกาะซาบาห์นั้น แท้จริงแต่ดั้งเดิมนั้น มีมาแต่สมัยที่ชาติต่างๆ ในอาเซียนดิ้นรนต่อสู้เรียกร้องเอกราชและหลุดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกขณะนั้น เมื่อฟิลิปปินส์หลุดออกจากการเป็นอาณานิคมของสเปน และมาเลเซียหลุดจากการตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษทั้งสองชาตินี้เอง ต่างอ้างสิทธิครอบครองเกาะซาบาห์ตั้งแต่นั้นมา เป็นเรื่องราวใหญ่โตมากหลังการได้เอกราชมา

เหตุเริ่มแรก มาจากการได้เอกราชของมาเลเซียจากอังกฤษ ซึ่งทำให้อังกฤษมีอธิปไตยเหนือดินแดนในรัฐบอร์เนียวเหนือที่มีส่วนหนึ่งของเกาะซาบาห์รวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่มาเลเซียรวบรวมเขตแดนต่างๆ ของตนหลังการรับเอกราช แล้วสถาปนามลายา ก่อตั้งเป็นสมาพันธรัฐมาเลเซียในปี ค.ศ.1963 (2506) การก่อตั้งสมาพันธ์มาเลเซียนี้เอง เป็นเหตุเบาะแว้งตามมากับทั้งอินโดนีเซียและกับฟิลิปปินส์อินโดนีเซียและกับฟิลิปปินส์

อินโดนีเซียในช่วงสมัยของประธานาธิบดีซูการ์โน ไม่พอใจการก่อตั้งสมาพันธรัฐมาเลเซียในช่วงนั้นมาก ถึงกับประกาศจะบดขยี้สมาพันธ์มาเลเซียให้แหลกลาญ ด้วยนโยบาย "เผชิญหน้า" (Confrontation) ของเขา ด้วยเหตุผลกล่าวอ้างว่า สมาพันธรัฐมาเลเซียเป็นเจว็ดของชาติจักรวรรดินิยม การใช้นโยบายเผชิญหน้าดังกล่าว ครึกโครมน่าหวาดกลัวความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การทำสง ครามช่วงนั้นมากทีเดียว

แท้จริงแล้วนโยบายเผชิญหน้าที่ภาษาอินโดนีเซียใช้คำว่า Konfrontasi นั้น เป็นกโลบายของซูการ์โนที่ต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของคนในอินโดนีเซียช่วงสมัยของเขา ที่เกิดความล้มเหลวในการจัดการกับเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมากกว่า ที่สำคัญซ่อนลึกอยู่ก็คือแนวคิดในการขยายอำนาจไปครอบครองเกาะเล็กเกาะน้อยให้เข้ามารวมเป็นเมืองบริวารของอินโดนีเซียนั่นมากกว่า

เกาะเล็กเกาะน้อยเหล่านี้ที่อยู่ในเป้าหมายของซูการ์โนช่วงนั้น คือเกาะซาราวัก บรูไน สิงคโปร์ และเกาะซาบาห์ นี่เอง ความกลัวการก่อตั้งสมาพันธรัฐมาเลเซียนั้น ก็คือเกรงว่า หากสมาพันธรัฐมาเลเซียก่อตั้งได้สำเร็จ และรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจขึ้นมา จะเป็นชนวนแตกแยกให้หมู่เกาะของอินโดนีเซีย คิดกบฏแยกตัวออกไปจากอินโดนีเซียได้ แต่นโยบายเผชิญหน้าที่ว่านี้ ก็ไม่มีการดำเนินการใดต่อมา จนสลายรูปไปเมื่อซูการ์โนสิ้นชีวิตลง

กรณีของเกาะซาบาห์ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างฟิลิปปินส์กับมาเลเซีย ในช่วงเริ่มแรก แต่เมื่อมีการจัดตั้งสมาพันธ์มาเลเซียนั่นเอง ข้อเรียกร้องสิทธิเหนือเกาะซาบาห์ของฟิลิปปินส์นั้น ยืนยันข้อตกลงปี ค.ศ.1878 ระหว่างสุลต่านแห่งซูลู และผู้ประกอบการของบริษัทบอร์เนียวเหนือ ได้ถ่ายโอนเขตแดนบอร์เนียวเหนือให้ไปอยู่ใต้การบริหารของบริษัทบอร์เนียวเหนือ อย่างสมบูรณ์ตามข้อตก ลงนั้นแล้ว

ทางฝ่ายฟิลิปปินส์ยืนยันว่า ครั้นเมื่ออังกฤษสละสิทธิ์ที่แต่เดิมเป็นของบริษัทบอร์เนียวเหนือ สิทธิต่างๆ ของบริษัทบอร์เนียวเหนือ (รวมถึงเขตแดนเกาะซาบาห์) จึงต้องตกเป็นของฟิลิปปินส์ ในฐานะที่ฟิลิปปินส์เป็นผู้รับมรดกสืบต่อจากสุลต่านแห่งซูลู สิทธิต่างๆ เหล่านั้นไม่บังควรโอนถ่ายไปให้กับรัฐอื่นได้

การเรียกร้องสิทธิของฟิลิปปินส์เหนือหมู่เกาะซาบาห์นี้ กล่าวอ้างถึงสิทธิทางประวัติศาสตร์ซึ่งจะต้องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฟิลิปปินส์อ้างถึงสิทธิครอบครองมาแต่ต้นทศวรรษที่ 1960 จนแม้เมื่อมีการประชุมสุดยอดของอาเซียนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในปี ค.ศ.1977 (2520) ฟิลิปปินส์ก็ยังคงวางเฉยกับเรื่องนี้ ทั้งก็ไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของตนแต่อย่างใด การแก่งแย่งสิทธิเกาะซาบาห์ระหว่างฟิลิปปินส์กับมาเลเซีย ก็ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นทำสงครามต่อกัน คงต่างฝ่ายต่างวางเฉยทั้งปัญหาไว้ไม่ให้ปะทุขึ้นมา

แต่ตลอดสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ที่ปรากฏเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรง ระหว่างเจ้าหน้าที่ของมาเลเซียกับชนพื้นเมืองเกาะซาบาห์ จนถึงกับมีผู้คนเสียชีวิตไปนับสิบคน ว่าไปแล้ว เหตุเหล่านี้มีอยู่หลายครั้ง แต่ดูกรณีสองฝ่ายก็ปล่อยถือว่าเป็นเรื่องในระดับท้องถิ่น แม้กระนั้นก็จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างฟิลิปปินส์กับมาเลเซีย ดูเย็นชาห่างเหินกันตลอดมา

เรื่องระดับท้องถิ่นที่เป็นความขัดแย้งนี้ มาจากข้อกังวลของฝ่ายมาเลเซีย ต่อการหลั่งไหลของแรงงานฟิลิปปินส์เข้าไปในรัฐซาบาห์ ขณะที่ฟิลิปปินส์เองก็ไม่พอใจมาเลเซียที่ปฏิบัติต่อคนฟิลิปปินส์ที่เข้าไปในซาบาห์ มาเลเซียสงสัยว่า คนงานผิดกฎหมายของฟิลิปปินส์เป็นขบวนการร่วมอยู่กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายมุสลิมมินดาเนา และฝ่ายฟิลิปปินส์ให้แหล่งซ่องสุมหลบภัยแก่คนเหล่านี้

ซาบาห์ยังคงเป็นปัญหาค้างคาอยู่ในอาเซียนนี้เอง และอาจเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาชะงักการเป็นประชาคมความมั่นคงของอาเซียน มี 4 ปัจจัยหลักที่น่าพิจารณาความขัดแย้งของสองประเทศนี้ คือ 1) มะนิลาไม่มีกำลังความสามารถเพียงพอที่จะกดดันเรียกร้องสิทธิเกาะซาบาห์ของตนต่อมาเลเซีย 2) สหรัฐเองซึ่งเป็นพันธมิตรแนบแน่นกับฟิลิปปินส์ ก็ไม่นับรวมเอาซาบาห์เข้ามาอยู่ในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันกับฟิลิปปินส์ด้วย

3) มาเลเซียซึ่งเป็นสมาชิกสำคัญขององค์กรอิสลามสากล The  Organization  of  the  Islamic  Conference  (OIC) สามารถกดดันฟิลิปปินส์ให้อยู่ในฐานะลำบากต่อความสัมพันธ์กับชาติในตะวันออกกลางต่อการที่จะให้ฟิลิปปินส์เข้าถึงแหล่งน้ำมัน 4) การที่พี่ใหญ่อินโดนีเซียโดยเฉพาะซูฮาร์โต สามารถเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยปัญหาได้ ความรุนแรงของปัญหาจึงดูว่าทุเลาลง และในที่สุดจะเห็นว่าทั้งสองฝ่ายวางเฉยกับกรณีซาบาห์นี้

ในที่สุดจะเห็นว่า การวางเฉยกับเรื่องของซาบาห์ จะปล่อยให้อาเซียนจัดการกันเอง แต่กับการปะทุที่ปะทะกันรุนแรงอีกครั้งนี้ กลไกการแก้ไขความขัดแย้งในอาเซียนด้วยกันเอง ก็ดูเหมือนจะไม่เข้มแข็งพอ วิถีอาเซียน หรือ  ASEAN WAY นั้น เพียงผ่อนคลายและช่วยให้ลืมปัญหาได้เท่านั้น เหตุที่เกิดในซาบาห์จึงน่าสนใจว่าจะเป็นอุปสรรคแค่ไหนหรือไม่ต่อการเป็นประชาคมความมั่นคงของอาเซียนต่อไป.

 

โดย : เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ คอลลัมน์ มิติโลกาภิวัฒน์ ไทยโพสต์

วันที่ : 6 มีนาคม 2556